ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้มีความเป็นไปได้ที่ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ จะปิดลงตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 3/2560 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะยังยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ แนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น แม้สัญญาณที่คุมเข้มต่อเนื่องของเฟด (ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ย และการลดงบดุล) จะทำให้ยังมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับมาทยอยอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี แต่คงต้องยอมรับว่า ประเด็นทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ดังนั้น แม้ว่าเฟดจะมีท่าทีของนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะเป็นกรอบที่ยังจำกัด และมีจังหวะที่ไม่แน่นอนในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือนมิถุนายน 2560 เฟดมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการลดขนาดงบดุล ซึ่งนับเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการปรับท่าทีของนโยบายการเงินสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization)
โดยแผนที่เฟดเตรียมไว้เบื้องต้น คือ การกำหนดเพดานสูงสุดสำหรับตราสารหนี้ (ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS) ที่เฟดจะปล่อยให้ครบกำหนด โดยที่จะไม่มีการนำกลับมาลงทุนใหม่ หรือ ไม่ reinvest ต่อ โดยเพดานดังกล่าวจะขยับขึ้นแบบขั้นบันไดตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งเท่ากับว่า ในขั้นตอนของ Balance Sheet Normalization นั้น เฟดจะทยอยลดการถือครองตราสารหนี้ลงจากงบดุลในจำนวนที่เท่ากับตราสารหนี้ที่ครบกำหนดในเดือนนั้นๆ (กรณีที่จำนวนตราสารหนี้ที่ครบกำหนด ต่ำกว่าเพดานที่เฟดตั้งไว้) หรือลดลงเท่ากับเพดานที่เฟดขีดเส้นเอาไว้ (กรณีที่จำนวนตราสารหนี้ที่ครบกำหนด มากกว่าเพดานที่เฟดตั้งไว้)
ทั้งนี้ เฟดจะลดการ reinvest พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ครบกำหนดจำนวนไม่เกิน 6 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในช่วงแรก และจะขยับเพดานขึ้นเป็นขั้นบันไดประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในทุกๆ ไตรมาสตลอดช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า จนกระทั่งแตะระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน พร้อมกันนี้ เฟดก็จะลดการ reinvest ตราสารหนี้หน่วยงานของรัฐ+MBS ลงในจำนวนไม่เกิน 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในระยะแรก และเพดานในส่วนนี้จะขยับขึ้นประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ในทุกๆ ไตรมาส จนกระทั่งถึงระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนเช่นเดียวกัน และเมื่อเพดานการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ+MBS ถึงระดับเพดานที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ตามเป้าหมายแล้ว เฟดก็จะคงเพดานไว้ที่ระดับดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง
"เมื่อประเมินสัญญาณคุมเข้มจากผลการประชุมเฟดล่าสุดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งไปที่กรอบ 1.25-1.50% ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยอาจจะเป็นการประชุม FOMC รอบวันที่ 19-20 กันยายน 2560 และเป็นไปได้ว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds ต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ในปี 2561 โดยกระบวนการปรับลดขนาดงบดุล น่าจะยังไม่มีผลกระทบมากนักต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า หากโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังประคองทิศทางการฟื้นตัวไว้ได้ต่อเนื่อง" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
นอกจากนี้ หากเฟดเริ่มต้นกระบวนการลดงบดุลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ด้วยการลดการ reinvest ในตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามเพดานที่เฟดขีดไว้) เฟดอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปีสำหรับกระบวนการ Balance Sheet Normalization ในการปรับลดงบดุลจากระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน ให้กลับลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่เจ้าหน้าที่เฟดประเมินไว้ โดยคาดว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เฟดถือครอง อาจลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (จากปัจจุบันที่ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่ตราสารหนี้ของหน่วยงานรัฐ+MBS อาจลดลงไปที่ 1.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (จากปัจจุบันที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ)
"ทิศทางดังกล่าวสะท้อนว่า เฟดต้องการให้กระบวนการปรับจุดยืนของนโยบายการเงินเป็นปกติ (Policy Normalization) เดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งในส่วนของการลดขนาดงบดุล และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากนัก" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ เฟดอาจเริ่มแผนการปรับลดงบดุลให้กลับลงมาอยู่ในระดับที่สะท้อนภาวะปกติมากขึ้น หรือ Balance Sheet Normalization ซึ่งการลดงบดุลนับเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการปรับท่าทีนโยบายการเงินในภาพรวม นอกเหนือไปจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่เฟดได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่งแนวทางการปรับลดงบดุลของเฟดที่ทยอยขยับขึ้นแบบขั้นบันไดอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น น่าจะยังไม่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 2561 โดยอาจจะยังคงเห็นเฟดทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อสกัดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า