นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และในฐานะรองโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 กรณีให้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียบูรณภาพแห่งอธิปไตยของชาติ ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52 โดยนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อวินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยตั้งข้อสังเกตดที่ระบคำสั่ง คสช.ที่30/2560 กำหนดให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลวิศวกรและสถาปนิกของจีนได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับของ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 ซึ่งหากบุคคลต่างๆ ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโครงการฯ หรือกับสภาพแวดล้อมและคนไทย จะไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายไทยได้นั้น ว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมามิได้ยกเว้น พระราชบัญญัติวิศวกรพ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ทั้งฉบับ โดยยกเว้นเพียงมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต จึงมิได้เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลัง
และในกรณีที่เกิดความเสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาให้รับผิดชอบทางแพ่งได้ ซึ่งได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว รวมทั้ง National Development and Reform Commission ในนามรัฐบาลจีน ยังคงมีความรับผิดชอบในฐานะที่มอบหมายรัฐวิสาหกิจจีนมาเป็นคู่สัญญากับไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 (MOU)
ส่วนประเด็นการยกเว้นการนำกฎหมายของไทยมาใช้ปฏิบัติบังคับกับโครงการฯ อีกกว่า 7 ฉบับ จะทำให้โครงการฯ และบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของคนไทยโดยชัดแจ้งนั้น รองโฆษกกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การยกเว้นกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรของจีนซึ่งเป็นงานในส่วนของการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนโดยวิศวกรจีนและสถาปนิกจีนหากเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นของไทยทุกประการ และหากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นฐานด้านงานโยธาที่มิได้เกี่ยวข้องกับงานการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูง วิศวกรและสถาปนิกจีนยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งมิได้ยกเว้นในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว
สำหรับคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (ม.75 ) ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ (ม.62, 76) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (ม.7) ที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจการกำหนดราคากลางได้ตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554 ก็ได้ชี้แจงว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวยังคงต้องให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ต้องคำนึงประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งยังคงเป็นไปตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้
และหากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติและลงนามในสัญญากันระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นสัญญาในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน หากเข้าข่ายมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะรัฐสภาก่อนการลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่ง สนช. พิจารณาตามรัฐธรรมนูญต่อไป