นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด กนอ.ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคมออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเลแล้ว เพื่อจะได้ดำเนินการบริหารจัดการและให้บริการท่าเทียบเรือ MIT สำหรับใช้เป็นท่าเรือสาธารณะแห่งที่ 2 ขนาดหน้าท่ายาว ประมาณ 1,024 เมตร ความลึกของหน้าท่า 12.0 เมตร สามารถให้บริการรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้สูงสุดถึง 60,000 DWT (Deadweight Tonnage) มีท่าเทียบเรือทั้งหมด 4 ท่า โดยรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทเทกอง เช่น เหล็ก เศษเหล็ก เศษไม้ สินค้าประเภท Oversized Cargo และระยะต่อไปจะรองรับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์
ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากล มีผู้ประกอบการ 12 ราย จำนวนท่าเทียบเรือให้บริการถึง 32 ท่า โดยเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ 3 ราย ประกอบด้วย 1.ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปสาธารณะ โดย บริษัท ไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด (TPT) 2. ท่าเทียบเรือสินค้าเหลวสาธารณะ โดยบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด (TTT) และ 3.ท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งที่ 2 (MIT) โดยคาดว่าท่าเทียบเรือ MIT จะเปิดให้บริการประมาณเดือนก.ค.60 ซึ่งจะช่วยรองรับการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 7 ล้านตันต่อปี และยังช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากความแออัดในการใช้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า จากการศึกษานโยบายต่าง ๆ ของรัฐ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดในภาคตะวันออกของไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำ และมีการเชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียนและนโยบายประชารัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศและเน้นการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่การเป็นประเทศการค้าและบริการ และเร่งพัฒนาศักยภาพของท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนไปยังภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะทำให้เกิดการเชื่อมไปยังท่าเรืออุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือฯ มาบตาพุด ท่าเรือฯ สัตหีบ และท่าเรือฯ แหลมฉบัง ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุน ตามนโยบายรัฐอย่างแท้จริง