สภาผู้ส่งออก มองการเลือกตั้งอังกฤษส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยตั้งแต่ Q3/60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 19, 2017 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ผลเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการเดินหน้านโยบายการผลักดันให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) แล้ว ยังส่งผลให้ค่าเงินปอนด์สเตอริงอ่อนค่าลงในทันที ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าสำหรับการอุปโภคบริโภคโดยตรงในระดับปานกลางถึงมากเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์สเตอริง

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้นจากระดับ 2.7% ในเดือนเมษายน เป็น 2.9% ในเดือนพฤษภาคม จะเป็นแรงฉุดให้การบริโภคของผู้บริโภคลดต่ำลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มไก่แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้นำเข้าจะหันไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาทดแทนสินค้าไทย กอปรกับประเทศอังกฤษเองก็หันไปใช้นโยบายเน้นการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น

เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศกับภาคพื้นยุโรปมากถึงประมาณ 40% และสินค้าหลายรายการมีการนำเข้าจากทั่วโลก เพื่อประกอบและผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งขายให้กับผู้บริโภคในสหภาพยุโรป ดังนั้นการออกจาก BREXIT จะทำให้สินค้าจากสหราชอาณาจักรมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราภาษีและพิธีการศุลกากรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเทียบเท่าประเทศนอกสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สินค้าของสหราชอาณาจักรไม่สามารถแข่งขันได้ และจะมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศไทยไปยังสหราชอาณาจักร

โดยกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบในระดับน้อยถึงปานกลาง ประกอบด้วย อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

"สภาผู้ส่งออกเชื่อว่าสหราชอาณาจักรไม่สามารถตัดขาดสหภาพยุโรปได้ โดยต้องหาทางเจรจาเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านศุลกากรเช่นเดิม และจะพยายามให้การเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรปเป็นไปในลักษณะ Soft BREXIT" น.ส.กัณญภัค กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในระยะยาวคือ ประเทศอังกฤษถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของสหภาพยุโรป ดังนั้นผลกระทบจาก BREXIT ต่อความมั่นคงทางด้านการเงินภายในจึงเป็นประเด็นท้าทายที่สหภาพยุโรปต้องขบคิดว่าจะพัฒนาศูนย์กลางทางการเงินมาทดแทน และมีสถาบันทางการเงินและสำนักหักบัญชี (Clearing House) ที่มีมาตรฐานและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศได้อย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดทุนและตลาดเงินระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ