น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ เพราะจะทำให้การเสนอราคาแข่งกับประเทศคู่แข่งทำได้ลำบากขึ้น ประกอบกับ สถานการณ์การส่งออกโดยปกติแล้วจะชะลอตัวในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งตรงกับช่วง summer ของประเทศผู้นำเข้า ดังนั้น หากเงินบาทยังคงแข็งค่าเช่นนี้ต่อไป อาจจะทำให้การส่งออกไตรมาส 4 ยังอยู่ในภาวะที่ทรงตัวได้
"ช่วงนี้ผู้ส่งออกจะต้องเริ่มปิดออเดอร์ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 แล้ว ซึ่งหากเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นอีก การเสนอราคาใหม่ก็จะทำได้ลำบากขึ้น" ประธาน สรท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ไม่ว่าแนวโน้มเงินบาทจะไปในทิศทางที่อ่อนค่าหรือแข็งค่า แต่ต้องการเห็นค่าเงินบาทมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค เพราะหากแข็งค่ากว่าก็จะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก
น.ส.กัณญภัค มองว่าผู้ประกอบการเองก็ควรต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของมาตรการป้องกันความเสี่ยง เพราะขณะนี้เริ่มมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการรายย่อยในเรื่องของความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการเข้าถึงสินเชื่อที่อาจจะทำได้ยากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
อย่างไรก็ดี ทางสรท.ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.5%
ด้านนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 4% แต่ยังมองว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาค และแนวโน้มการส่งออกของไทยก็ยังคงไปได้ดี แต่ผู้ประกอบการเองจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เตรียมรับมือกับสถานการณ์ของค่าเงิน ซึ่งการปิดความเสี่ยงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ
"ในส่วนของรายใหญ่ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีแล้ว แต่ในส่วนของรายย่อย เราได้พยายามให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดงาน "ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร" ในวันนี้ ซึ่งจะมีกูรูจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย, EXIM BANK และธนาคารพาณิชย์มาร่วมให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถบริหารความเสี่ยงได้" นายวินิจฉัยกล่าวในงาน "ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร"
สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หากจะมองในอีกแง่หนึ่งก็จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และทำให้ต้นทุนสินค้ามีราคาถูกลง ซึ่งสามารถแข่งขันในด้านราคากับคู่แข่งได้ดีขึ้น
นายวินิจฉัย กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีความน่าเป็นห่วงจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีการใช้เฉพาะวัตถุดิบในประเทศมาผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ SMEs ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกสำหรับปีนี้ไว้ที่ 5% ต่อไป