ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.15 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 33.96 ต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 ปีตามแรงขายดอลลาร์ในตลาดโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามความคาดหมายและส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 2.3 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรอายุเกิน 1 ปี สูงถึง 1.48 หมื่นล้านบาท
แม้เฟดแสดงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว แต่ยังระบุว่าจะดำเนินการปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะจับตาเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เฟดจะดำเนินนโยบายเดิมต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากการถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ (agency) และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของ agency มาลงทุนใหม่ อย่างไรก็ดี เฟดคาดว่าจะเริ่มต้นการปรับงบดุลสู่ภาวะปกติด้วยการเริ่มลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์อื่นๆ ในปีนี้ หากเศรษฐกิจดีขึ้นตามคาด ซึ่งอาจเป็นแรงหนุนระยะสั้นสำหรับค่าเงินดอลลาร์ก่อนที่จะปรับตัวลงรอบใหม่
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทกระทบการส่งออกอย่างจำกัด และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาครวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งความผันผวนยังต่ำกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
ตั้งแต่ต้นปี 60 มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในไทยแล้วราว 3 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตร 2.6 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ธปท.กล่าวว่าจะเฝ้าติดตามเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางการเน้นย้ำให้ผู้ส่งออกทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (hedging) อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ส่งออกมากกว่า 60% ที่ไม่ทำ hedging กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มองว่า มีแนวโน้มที่ทางการจะเข้าดูแลตลาดเพื่อพยายามลดความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นระยะ มากกว่าที่จะฝืนทิศทางหลักของตลาดโลก