นักวิชาการมอง"ธุรกิจไทยครึ่งหลังของปี 60"จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง แนะภาคธุรกิจต้องปรับตัวสร้างนวัตกรรมและวิเคราะห์ข้อมูล ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมปรับเปลี่ยนทิศทางการเติบโตผ่านการร่วมทุน และขยายสู่ตลาดเพื่อนบ้าน
นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา“ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” ว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังถือว่าเป็นเรื่องหนักของภาคธุรกิจ แม้สถานการณ์จะดีกว่าปีก่อนแต่ยังไม่ดีขึ้นมากนัก ขณะที่ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีนักธุรกิจรายใหม่เข้ามามากขึ้น ตลอดจนมีรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ ออกมานำเสนอเพิ่มขึ้นด้วย
"ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปีหน้า ธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต้องปรับตัวให้ทัน และจะมีอาชีพเกิดใหม่ที่เราคิดไม่ถึง" นายพสุ กล่าว
สำหรับภาคธุรกิจ ที่มองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้มี 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ไอที, สื่อ, ค้าปลีก, การธนาคารและการเงิน, การศึกษา เป็นต้น ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว
“ผู้เล่นรายใหม่ๆ เหล่านี้มีทั้งพวกที่เป็นสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่โดดขึ้นมารบบนสนามออนไลน์มากขึ้นหรือแม้แต่ผู้เล่นจากต่างประเทศที่จะบุกเข้ามาในไทย"นายพสุ กล่าว
การเติบโตของธุรกิจไทยนับจากนี้ไป จึงต้องมองมิติใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยคนรุ่นใหม่เพื่อหลีกหนีจากกรอบความคิดเดิมๆ เช่น การเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีไอเดียแต่ไม่มีเงินทุนจะต่อยอดให้เกิดความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ขณะที่องค์กรใหญ่มีเงินทุนที่สามารถสอดประสานและนำธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของตนเพื่อให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนได้
และนอกจากการเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว องค์กรธุรกิจต้องปรับทิศทางการเติบโตไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาความต้องการภายในประเทศมีการเติบโตน้อยมาก"
ทั้งนี้ นายพสุ ยังกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการในช่วงครึ่งปีหลัง 60 ว่า การบริหารจัดการต้องเน้นใน 3 เรื่องคือ องค์กร 4.0 ผู้นำ 4.0 และกลยุทธ์ 4.0 กล่าวคือองค์กรจะมีความหลากหลายมากขึ้นจากบุคลากรหลายเจเนอเรชั่นมาทำงานร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร
สำหรับองค์กรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีความรู้ความสามารถก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่ผู้นำ 4.0 ต้องมีความถ่อมตนทางปัญญา เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนกลยุทธ์ 4.0 คือการใช้มุมมองใหม่ๆ มาสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมกับการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อเป็นโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร
"วันนี้ต้องยอมรับว่าในแต่ละองค์กรมีบุคลากรที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ดังนั้นผู้นำยุค 4.0 จะต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และสามารถบริหารจัดการภายใต้ความไม่แน่นอน เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถอยู่ร่วมกันได้"นายพสุกล่าว
ด้านนายวิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตลาด 4.0 ที่เป็นเรื่องของการตลาดดิจิทัลในยุคนี้ต้องไม่ใช่แค่เครื่องมือด้านสื่อสารการตลาด แต่ต้องสามารถสร้างให้เป็น Core Business ได้ ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ไม่ได้เป็นแค่ Digital Consumers เท่านั้น แต่เป็น Digital Advocates และเป็น Digital Evangelists ที่จะมีการสร้างพลังของเน็ตเวิร์คในการแชร์
การสร้างแบรนด์ผ่านดิจิทัลต้องศึกษาการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน จนถึงยุคที่เป็น Lifeline เครื่องมือในการเข้าใจลูกค้าต้องมากกว่า Internet of Things (IoT) แต่เป็น Internet of Lives (IoL) กลยุทธ์ของแบรนด์ในปัจจุบันต้องมีความรอบจัดและรอบด้านเพื่อสรรสร้างการตลาดที่ตอบโจทย์ไม่เพียงแต่เป็น Consumer Centric แต่เป็น Human Centric
"การตลาดยุคดิจิตัลไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารด้านการตลาด แต่สามารถสร้างให้เป็น Core Business ได้ เช่น อูเบอร์ หรือ แกร็บ ที่ไม่ได้มีรถแท็กซี่ของตัวเองเลยสักคัน สิ่งที่นักการตลาดยุคนี้ต้องมองจะกว้างกว่าเดิมเพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จ เช่น รายการเดอะมาสค์ซิงเกิ้ลที่ไม่ได้คิดแค่รายการ แต่เป็นการสร้างกิจกรรมอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้อง และสิ่งสำคัญที่นักการตลาดต้องยึดถือไว้คือจริยธรรม เพื่อให้เติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน"
ขณะที่นางอัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า โลกธุรกิจที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทำให้ตำแหน่ง Data Scientist กำลังเป็นที่ต้องการของแทบทุกองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีข้อมูลมาก ต้องอาศัยคนมาช่วยในการดึงข้อมูล การวิเคราะห์ และสรุปผลออกมา เพื่อนำเสนอผู้บริหารในการประกอบพิจารณาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การตลาดหรือแม้กระทั่งการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การสร้างการเติบโตขององค์กร โดยการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นั้น มีแนวโน้มที่จะต้องสร้าง In-house Banking ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เหมือนเป็นธนาคารให้กับบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศและการถือเงินสกุลต่างกัน สามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลต้องสามารถนำเสนอให้ผู้บริหารเข้าใจ ที่ผ่านมาอาชีพนี้ไม่ค่อยมีในองค์กรธุรกิจ แต่จะจ้างบุคคลจากภายนอกเข้ามาดำเนินการให้ ซึ่งบางที่ขาดความเข้าใจองค์กรตัวเอง เมื่อนำข้อเสนอแนะจากนักวิเคราะห์มาใช้โดยตรงอาจเกิดปัญหาหลงทาง ดังนั้นผู้บริหารองค์กรยุคนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการภายใต้ความไม่แน่นอน"นางพรอนงค์ กล่าว