คณะพาณิชย์ฯ จุฬาฯ มองศก.ไทยช่วง H2/60 ฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป กระแสซื้อกิจการไม่คึกหลังต้นทุนไม่ถูก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 19, 2017 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา"ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560" โดยมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่ยังเข้มงวดกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ ขณะที่กระแสการซื้อกิจการอาจจะไม่มีมากนัก เพราะต้นทุนไม่ได้ถูกเหมือนเดิม ส่วนมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะประกาศใช้นั้น คาดว่าจะผลต่ออุตสาหกรรม 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน, อุตสาหกรรมโรงพยาบาล, อุตสาหกรรมสื่อสาร, อุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก, อุตสาหกรรมยานยนต์

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังซึมๆ หลังเศรษฐกิจชะลอตัว ทิศทางดอกเบี้ยปีนี้ก็ไม่ใช่ขาขึ้นตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง แต่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าน่าจะดีขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในประเทศอาจมีปัญหาเงินทุนไหลออกที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากทิศทางเรื่องดอกเบี้ย สำหรับปัญหาที่ผู้ประกอบการจะพบมากขึ้นคือการเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวหลังรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง

นางพรอนงค์ กล่าวว่า ต่อไปจะเหลือแต่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้ประกอบการจะรักษาสถานะธุรกิจขนาดกลางไว้ไม่ได้ และในอนาคตกระแสการเข้าซื้อกิจการจะไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนอดีต เนื่องจากต้นทุนไม่ได้ถูกอย่างเดิม โดยความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคตต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการนำระบบ e-payment มาช่วยให้ธุรกิจเกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ด้านนายวรศักดิ์ ทุมมานนท์ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของภาคการเงินการธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากประสบปัญหาการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะเป็นธุรกิจคนเดียวมากขึ้น เช่น ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คนที่เป็นเจ้าของห้องชุดจะผันตัวเป็นผู้ให้เช่า ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเติบโตได้ แต่รายเล็กและกลางจะทรงตัว ส่วนธุรกิจค้าปลีกจะยังเป็นของรายใหญ่เช่นกัน

นอกจากนี้คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชี กำลังผลักดันให้มีการนำเอามาตรฐานสากล ที่เรียกว่า IFRS (International Financial Reporting Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกมาปรับใช้ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจในบริบทสังคมไทยด้วย ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจของไทยในบางเรื่องมีความแตกต่างไปจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรม 5 ประเภทในปี 63 คือ อุตสาหกรรมการบิน, อุตสาหกรรมโรงพยาบาล, อุตสาหกรรมสื่อสาร, อุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก, อุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้มาจากการเช่า ไม่ได้เป็นของตนเองอย่างแท้จริง

ส่วนกรณีที่กรมสรรพากร รณรงค์ให้ภาคเอกชนทำข้อมูลบัญชีเดียวโดยมีแรงจูงใจเรื่องการนิรโทษกรรมภาษี ก็เชื่อว่าจะส่งผลให้มาตรฐานทางบัญชีเข้าสู่ระบบสากลมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ