ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เคยโดดเด่นกลับถดถอยลง ด้วยอัตราการผลิตรถยนต์เติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี และไทยเริ่มถูกแย่งตลาดส่งออกจากคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ โดยนับจากปี 2553 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยเติบโตได้เฉลี่ยเพียง 8% ต่อปี แต่อินโดนีเซียกลับเติบโตได้มากถึง 17% ต่อปี ซึ่งตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และฟิลิปปินส์ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังถูกแอฟริกาใต้แย่งส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถกระบะไปอังกฤษ โดยในปี 2559 แอฟริกาใต้มีมูลค่าการส่งออกไปอังกฤษเพิ่มมากกว่า 10 เท่า ส่วนไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยขยายตัวลดลงจากเดิม 12% ในปี 2558 เหลือเพียง 5% ในปี 2559
นอกจากการเติบโตของประเทศคู่แข่งที่ทำให้ไทยถูกแย่งตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญแล้ว ยังมีความท้าทายในรูปแบบอื่นที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการผลิตรถยนต์ที่ต้องใช้โครงสร้างหรือชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนการหดตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าการขยายตัวของตลาดในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะสั้นถึงปานกลาง
SCB EIC มองว่าการส่งเสริมยอดขายตลาดในประเทศจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสดึงดูดให้เกิดการขยายการลงทุนจากค่ายรถยนต์อีกด้วย เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองรถยนต์ของไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 227 คัน ต่อประชากร 1,000 คน พบว่าตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและเกาหลีใต้ที่มีสัดส่วนการถือครองรถยนต์มากถึง 559 คัน และ 412 คัน ต่อประชากร 1,000 คน ตามลำดับ โดยทั้งสองประเทศมีการใช้มาตรการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการ Scrappage Scheme เพื่อกระตุ้นยอดขายรถใหม่ในประเทศ กล่าวคือ ผู้ซื้อจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีหรือเงินอุดหนุนจากภาครัฐ หากนำรถเก่ามาแลกซื้อรถใหม่ ส่งผลให้ในปี 2552 ตลาดรถยนต์ในเยอรมนีและเกาหลีใต้สามารถขยายตัวได้ถึง 18% และ 17% จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ
ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากโดยเฉพาะแนวโน้มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่อรถยนต์หนึ่งคันไม่เพียงแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เซนเซอร์และกล้องเพื่อรองรับระบบเบรกอัตโนมัติ หรือระบบควบคุมช่องทางการขับขี่ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ได้ จะมีก็เพียงแต่เทคโนโลยีสำหรับการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ซับซ้อนนัก เช่น ถุงลมนิรภัย ระบบเบรก ABS เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ด้านการใช้โครงสร้างและชิ้นส่วนรถยนต์ร่วมกัน (modular platform) ที่หลายค่ายรถยักษ์ใหญ่นำมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวมีการกำหนดฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพื่อส่งออกไปยังโรงงานประกอบรถยนต์ทั่วโลกร่วมด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการ Toyota New Global Architecture (TNGA) เริ่มต้นผลิต New Prius (2015) และ CH-R (2016) ที่มีการใช้ระบบ Powertrain, Chassis และ Transmission ร่วมกัน โดยแต่เดิมมีการผลิตเฉพาะในญี่ปุ่น และปัจจุบันมีการขยายฐานการผลิตไปตุรกี ในขณะที่การผลิต Prius ในไทยได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ส่งผลกระทบให้ไทยสูญเสียโอกาสที่จะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ในโครงการ TNGA นี้
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ตอบรับเทรนด์ด้านการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น แต่รวมไปถึงการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) หรือรถยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) เป็นต้น นอกจากนี้ การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีจะยังส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์เทรนด์การใช้ modular platform ซึ่งรวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของค่ายรถทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย
ขณะที่ในระยะยาว SCB EIC แนะผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีความหนาแน่นของผู้ประกอบการค่อนข้างต่ำ ทำให้มีช่องว่างสำหรับการรุกตลาด โดยอีไอซีมองว่า แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นพิเศษ เพราะตลาดยังมีขนาดเล็กและมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหภาพยุโรปและอังกฤษ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง ไทยซัมมิท ประสบความสำเร็จจากการบุกตลาดดังกล่าวแล้ว โดยมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นถึง 10% ในปี 2015 และยังมีแผนขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือเม็กซิโกและอินเดีย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการผลิตรถยนต์รวมมากกว่า 8 ล้านคันในปี 2559 หรือมากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตทั้งกลุ่ม นอกจากนี้ อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการผลิตรถยนต์เติบโตเฉลี่ยที่ 8%, 8% และ 15% ต่อปี ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น แอฟริกาใต้ยังสามารถยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์จากที่เคยเป็นเพียงผู้นำเข้าจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์สำคัญของโลก โดยในปี 2559 มีสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ที่ 9% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ