นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยหลังพาผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ไทยจำนวน 9 ราย เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Cannes Film Festival 2017 ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้สร้าง นักลงทุน ผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์จากทั่วโลก โดยมีการจับคู่เจรจาการค้ารวม 184 คู่ เกิดมูลค่าจากการซื้อขาย การร่วมผลิต และข้อตกลงทางธุรกิจรวมกว่า 830 ล้านบาท
"การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival ในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ มูลค่าการเจรจาการค้าในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว โดยในปี 2016 มีมูลค่าเจรจาการค้าประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าปีนี้สูงถึง 830 ล้านบาท" นางมาลี กล่าว
สำหรับภาพยนตร์ไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ภาพยนตร์สยองขวัญ กำลังได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ส่วนภาพยนตร์แนวแอคชั่นคอมมาดี้มีแนวโน้มและมีโอกาสดีเช่นกัน
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดต่างประเทศตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล มีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายภาพยนตร์คุณภาพของไทย และส่งเสริมให้เกิดการร่วมทุนผลิตภาพยนตร์ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างชาติ โดยใช้ Know How และบุคลากรของไทย รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์บุคลากรไทย (Thai Talents) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสามารถแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มที่
การเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival มีความสำคัญต่อธุรกิจภาพยนตร์และบันเทิงของไทย เนื่องจากเป็นตลาดซื้อขายและแสดงผลงานในวงการภาพยนตร์จากทั่วโลก ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 โดยขยายกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานสู่ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นที่มีศักยภาพผลิตผลงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกได้
โดยผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2017 มีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย 1) บริษัท เบนีโทน (ประเทศไทย) จำกัด 2) บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด 3) บริษัท ไฟว์ สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด 4) บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด 5) บริษัท จีดีเอช 559 จำกัด 6) บริษัท พี แอล เอช โฮลดิ้ง จำกัด 7) บริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด 8) บริษัท ฮอลลีวูด ไทยแลนด์ จำกัด และ 9) บริษัท อีสต์เนส โปรดักชันส์ จำกัด โดยในจำนวนนี้มีบริษัทที่ได้ตกลงร่วมทุนกับต่างชาติในการผลิตภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ในประเทศไทยมูลค่าหลายร้อยล้านบาทด้วย