ซิตี้แบงก์ คาดตลาดหุ้น-พันธบัตรให้ผลตอบแทนดีใน H2/60 เพิ่มน้ำหนักตลาดเอเชีย-ยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 20, 2017 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และมีความผันผวนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนจะต้องมีการทบทวนการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมต่อความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าการลงทุนของนักลงทุนควรเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่มีความน่าสนใจและให้ผลตอบแทนที่ดี ตามมุมมองของธนาครซึ่งแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเอเชียและยุโรปมากขึ้น โดยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง แนะนำให้นักลงทุนแบ่งสัดส่วนลงทุนในตลาดหุ้น 50-60% และลงทุนในตลาดพันธบัตรสัดส่วน 20-40%

สำหรับธนาคารได้มีนวัตกรรมใหม่ในการช่วยเหลือให้ลูกค้าวางแผนการเงินและวางแผนความมั่งคั่งภายใต้ชื่อ Total Wealth Advisory (TWA) ซึ่งเป็นเครื่องมือวางแผนการเงินตามเป้าหมายที่ธนาคารได้พัฒนาและนำมาให้บริการกับลูกค้าซิตี้โกลด์ตั้งแต่เดือนพ.ค. 60 ทำให้ลูกค้าเห็นพอร์ตการลงทุนแบบภาพรวม รวมไปถึงดัชนีการกระจายความเสี่ยง ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงอย่างดีที่สุดในสินทรัพย์ทุกประเภท

นอกจากนี้ ภายในสิ้นปี 60 ธนาคารจะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์กองทุนรวม โดยจะมีจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จ่ดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำระดับโลกเพิ่มขึ้นเป็น 10 สถาบัน จากปัจจุบันมี 8 สถาบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนต่อลูกค้าเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าเติบโต 20% ในปี 60

นายเอเดรียน ไวสส์ หัวหน้าที่ปรึกษาการบริหารความมั่งคั่ง ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในทุกภูมิภาค ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3 และ 3.3% ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่สนับสนุนวัฏจักรการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประกอบด้วย กำไรจากผลประกอบการภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และการฟื้นตัวของกิจกรรมการลงทุน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ การชะลอตัวอย่างมากของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความกังขาต่อนโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ส่วนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้านตลาดหุ้นหลักในทุกภูมิภาคคาดว่าในปี 60 จะมีการเติบโตในทางบวก ซึ่งเกิดขึ้นครั้งหลังสุดไนปี 53 โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบ ความคืบหน้าจากการใช้นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่อาจจะส่งผลบวกต่อหุ้นที่ได้รับอิทธิพลจากวัฏจักรเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนไม่ได้คาดหวังมากนักกับการปฏิรูปภาษีและมาตรการกระตุ้นด้านการคลังของสหรัฐฯ รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นและการเติบโตของผลประกอบการจะส่งผลต่อหุ้นที่เป็นวัฏจักร เช่น กลุ่มพลังงาน การเงิน และเทคโนโลยี ส่วนตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหุ้นวัฏจักร คาดว่าจะมีการเติบโตได้ไนระดับตัวเลขสองหลักในปีนี้ ซึ่งดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯผ่านพ้นไป โดยนักลงทุนต่างคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นพบว่าตั้งแต่ต้นปี 60 ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯกลับลดลง จากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นไนช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า โดยมองว่าการเลือกลงทุนในพันธบัตรควรจป็นการเลือกลงทุนในพันธบัตรบางกลุ่ม เช่นตราสารหนี้เอกชนของสหรัฐฯที่ยังอยู่ไนระดับที่น่าลงทุน และตราสารหนี้ของประเทศเกิดใหม่

"ความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้น มองว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย ละตินอเมริกา และยุโรปตะวันออกในบางประเทศ มีความน่าสนใจในปีนี้ เพราะปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยหนุน และ Valuation ของตลาดหุ้นในกลุ่มนี้ที่ถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่ง P/E เฉลี่ยของตลาดหุ้นเกิดใหม่อยู่ที่ 13 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ 19 เท่า ส่วนตลาดหุ้นยุโรปก็เป็นอีกหนึ่งตลาดหุ้นที่น่าสนใจ เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตตลาดตราสารหนี้ยุโรป เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทน 3% ส่วนตลาดตราสารหนี้ยุโรปให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 1%"นายเอเดรียน กล่าว

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังคาดว่ามีผันผวน เพราะความเคลื่อนไหวทางการเมืองกดดันไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ในขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะต่อไปก็จะช่วยไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า ซึ่งการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ ตลอดจนเปิดโอกาสลงทุนให้กับนักลงทุนในระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ