นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนว่า การดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ตอน คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย โดยศึกษาออกแบบช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาก่อน แบ่งงานเป็น 2 รายการคือ 1.สัญญาการก่อสร้าง ซึ่งจะใช้ผู้รับหมาไทย วัสดุในประเทศ สัดส่วน 75% 2.สัญญาออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างและ งานระบบราง อาณัติสัญญา ตัวรถ ความเร็ว 250 กม. /ชม. ใช้เทคโนโลยีจีน สัดส่วน 25%
ขณะนี้งานออกแบบได้ทำคู่ขนานไปแล้วมีความก้าวหน้า 95% คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับจีนได้ภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งตามคำสั่งมาตรา 44 ให้ยกเว้นพ.ร.บ.เรื่องการประกอบวิชาชีวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรตามความเหมาะสม ซึ่งได้แจ้งให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทยได้รับทราบแล้ว โดยทั้ง 2 สภาจะหารือเพื่อจัดหลักสูตรอบรม ทดสอบความรู้ เทคนิคพื้นฐาน ข้อกฎหมายต่างๆ สภาพภูมิประเทศของไทย ให้วิศวกรจีนได้เข้าใจสภาพของประเทศไทย
แม้มาตรา 44 จะยกเว้น พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัย จะให้วิศวกรและสถาปนิกจีนมาอบรมตามหลักสูตรที่ 2 สภาได้จัดทำ โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เสร็จก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาออกแบบ และจะต้องเจรจาให้อยู่ในกรอบค่าจ้างที่ 1,824 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มีมูลค่า 179,412 ล้านบาท โดยยังคงเป้าหมายจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย.เพื่อเริ่มการก่อสร้างในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้
สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น ผลตอบแทนทางการเงินไม่มีกำไรแม้แต่ประเทศจีนเอง ซึ่งรัฐบาลยังต้องอุดหนุนโครงการ แต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งจะมีการจัดพื้นที่บริเวณปากช่องเพื่อนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สามารถดำเนินการเองหรือให้เป็นการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP
"โครงการนี้ ติดประเด็นออกแบบโดยวิศวกรจีน ติดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบพัสดุ ราคากลาง ทำอย่างไรได้เร็ว กระทรวงคมนาคมจึงได้เสนอใช้มาตรา 44 ช่วยเพื่อยกเว้นขั้นตอนการขอใบอนุญาต และจะเขียนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไว้ในสัญญาออกแบบ,สัญญาควบคุมการก่อสร้าง,สัญญาระบบรถด้วย" นายอาคม กล่าว
ส่วนการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ตอน ระยะทาง 253 กม. ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ตอนที่ 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร อ.สีคิ้ว ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม. ซึ่งหลังลงนามสัญญาออกแบบแล้วแบบของตอนที่ 2,3,4 จะทยอยออกมา