พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้ชี้แจงข้อสังเกตุของกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกเกี่ยวกับมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ปี 2514 ในการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินการมาโดยตลอด ผลประโยชน์ตอบแทนที่เกิดจากการเก็บค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ถ้านับย้อนหลังจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 1.83 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของค่าภาคหลวงที่เก็บจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมบนบกจัดสรรไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงินถึง 60% ดังนั้น ข้อห่วงใยของกรรมาธิการในเรื่องนี้ ได้มีการดำเนิการอย่างนี้มาโดยตลอด และสามารถตรวจสอบได้
สำหรับในประเด็นที่สอง เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียมจำนวน 15 คน เป็นของรัฐ 10 คน และมาจากภาคส่วนอื่นๆ 5 คนนั้น กมธ.เห็นว่าควรพิจารณาแต่งตั้งจากบุคคลที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคม เช่น ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน หรือด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีความเชี่ยวชาญในสาขาธรณีวิทยา วิศวกรรมสถาน เศรษฐศาสตร์ การเงิน กฎหมายและสาขาอื่นๆที่เป็นประโยชน์
ในเรื่องนี้ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่าขณะนี้มีคณะกรรมการอยู่แล้ว 15 คนและมีคุณสมบัติที่ว่า และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง เมื่อใดที่ครบวาระจะมีการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ กมธ.เสนอมาเข้าไปทดแทน จะได้สบายใจว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อสังเกตของ กมธ.ร
ในประเด็นเรื่องการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต กรณีที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพต่ำหรือคุณภาพต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตสูง ควรจะมีผลตอบแทนสูงเพื่อจูงใจให้มาลงทุน แต่ที่ใดที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง คุณภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำ รัฐควรที่จะได้รับผลประโยชน์สูงเป็นแบบขั้นบันได
รมว.พลังงาน ระบุว่า ข้อกฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียมกำหนดไว้ที่ 50:50 เพราะยังไม่รู้ว่าพื้นที่ใดจะมีศักยภาพสูงหรือต่ำ หากมีศักยภาพต่ำแต่ลงทุนสูงก็คงต้องแบ่งปันผลประโยชน์จูงใจให้ผู้ลงทุนแน่นอน และหากที่ใดศักยภาพสูงแต่ลงทุนต่ำก็จะมีการปรับเป็นขั้นบันไดที่รัฐจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นแน่นอน เพียงแต่กำหนดในพ.ร.บ.ไม่ได้เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้เท่าใด แต่จะไปกำหนดในประกาศที่จะมีตามมา
ส่วนในเรื่องของจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ คือ การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company:NOC) นั้น เรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ข้อยุติแล้วว่าจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ให้ได้ภายใน 60 วันและต้องหาข้อยุติเรื่องนี้ให้ได้ใน 1 ปีนับจากวันที่พ.ร.บ.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้
แต่ก็มีคำถามว่าระหว่างที่พ.ร.บ.ประกาศแล้วจะต้องรออะไรหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องรั้งรอ เพราะหน่วยงานราชการที่มีอยู่ในปัจจุบันทำหน้าที่เป็น NOC อยู่แล้ว แต่ถ้าผลการศึกษาออกมาว่ามีความจำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทแล้วก็มาสวนทำหน้าที่หน่วยงานของรัฐ
"เพราะฉะนั้นถือว่าข้อสังเกตของกรรมาธิการทั้ง 4 ข้อหน่วยงานของรัฐได้นำไปปฏิบัติเป็นแนวทางและมีข้อสรุปที่ชัดเจนครบทุกประเด็น"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว