พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแหล่งเงินกู้ในโครงการรถไฟไทย-จีนที่ต้องใช้เม็ดเงินราว 1.7 แสนล้านบาทว่า ในขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกู้เงินจากจีนหรือไม่ เป็นเพียงข้อเสนอจากทางการจีนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาจากแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด รวมถึงพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศด้วย
"เรื่องเงินกู้ผมยังไม่เคยพูดเลยว่า จะไปกู้เงินใครมา ในประเทศก็มีพอสมควร ซึ่งจีนก็ไม่เคยเรียกร้องเพียงแต่เสนอคงข้อพิจารณามาว่า ถ้าใช้ของเขาดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็เอามาเปรียบเทียบเงินกู้ที่ใช้จากแหล่งอื่นมันต่ำกว่าหรือไม่ ถ้าตรงไหนต่ำกว่าก็ใช่ตรงนั้น เขาไม่เคยมาบังคับเราอะไรตรงนี้หรอก"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ในวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท จะใช้ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน 1.3 แสนล้านบาท และใช้บริหารจัดการการเดินรถอีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนของสัญญาโครงการนี้ไม่มีผลต่อรถไฟในเส้นทางอื่นๆ เพราะรถไฟที่เหลืออาจจะดำเนินการในลักษณะอื่น ไม่ว่าจะเป็นไปประมูล ไปร่วมทุน หรือจะให้เอกชนลงทุนในรูป PPP แต่เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นแรกที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะคิดเฉพาะรายได้จากการโดยสารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปดูข้อกฏหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาประโยชน์จากสองข้างทางด้วย โดยเชื่อว่า จะเกิดการลงทุนอื่นๆตามมา รวมถึงเกิดเมืองใหม่ ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับประชาชนโดยตรง
"วันนี้ผมให้แนวทางข้าราชการใหม่ทั้งหมด ต้องมองว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไรต่อไปในอนาคต "make different for future" make different คือ ให้มันต่างจากของเดิม ส่วน for future ไม่ใช่มองวันนี้เพียงเดียว ไม่ใช่มองข้อขัดแย้ง มองปัญหา มองเรื่องทุจริต ซึ่งเราพยายามแก้ทุกอัน เพื่อไป future วันนี้ทำงานแบบหาเป้าหมายให้เจอ ให้ตรงกลุ่ม ไม่ใช่ทั้งหมดโปรยปรายไปทั้งหมด เท่ากันหมด มันไม่ได้ แต่ต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับทุกภาคส่วน ต้องเฉลี่ยรายได้ให้ลงมาสู่คนที่มีรายได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดมาตลอดเวลา ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ยืนยันว่า ต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ลดลงจากเดิมที่เคยได้อยู่"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของข้อกังวลของวิศวกรรมสถานได้มีการหารือและมีความเข้าใจแล้ว ซึ่งในประเด็นที่มีความกังวล ไม่ว่าเรื่องวิศกร การติดตาม การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางการไทยได้มีมีการเจรจามาโดยตลอด ซึ่งมีข้อตกลงมาแล้วถึง 18 ครั้ง โดยในกิจกรรมใดที่ไทยสามารถทำได้ก็ให้ดำเนินการไปอยู่แล้ว แต่ติดเพียง 3-4 ข้อจึงนำไปสู่การออกมาตรา 44 พร้อมทั้งยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับใครเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว
ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องเป็นการร่วมมือกับจีน เพราะต้องการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจอาเซียน เอเชียใต้ จีน ยุโรป จึงออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อให้ทำงานนี้ได้ ใน 3-4 ประเด็นจะได้ไม่ติดขัดในข้อกฎหมาย ได้แก่ ประเด็นเรื่องของวิศวกร, การจัดซื้อจัดจ้าง, การไม่มีราคากลาง เป็นต้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังฝากให้คิดด้วยว่าจะคิดแต่เรื่องของผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องเริ่มที่ อ.กลางดงนั้น พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากจากการไปสำรวจ กลางดงไม่มีพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ส.ป.ก. ไม่ต้องวุ่นวาย ถือว่าสมบูรณ์ตามหลักวิศวกรรม จึงทำตรงนี้ก่อน