นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.60 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามที่ สำนักงาน คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเสนอ จากเดิมอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ ลดลงเป็น 90 บาทต่อไร่เท่ากันทุกพื้นที่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,260 บาทอต่อไร่ ซึ่งเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และเสนอให้ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงาน คปภ.จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ทันที
ทั้งนี้ ในส่วนของความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรรันส์) แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ ความคุ้มครองหมวดที่ 1 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และความคุ้มครองหมวดที่ 2 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่
นอกจากนี้ หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ อันเนื่องจากมีจำนวนพื้นที่ความเสียหายไม่เพียงพอต่อการประกาศเป็นสาธารณภัย ทางเกษตรอำเภอจะมีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเกษตรกรมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนาไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประกันภัยข้าวนาปีในเชิงรุก โดยเร่งเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อนำระบบประกันภัยไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา สำหรับโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 ได้เลือกจัดในจังหวัดที่ไม่ซ้ำกับปีก่อนจำนวน 9 จังหวัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการทำประกันภัยข้าวนาปีให้มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการจัดไปแล้ว 4 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา และจะจัที่เพชรบุรี เป็นจังหวัดที่ 5 ต่อจากนั้นก็จะจัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และ สงขลา ตามลำดับ
การอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เพื่อให้ความรู้กับตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปถ่ายทอดกับเกษตรกรต่อไปนั้น ในปีนี้มีความเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ.จะลงพื้นที่ตามหมู่บ้านของจังหวัดที่จัดโครงการอบรมฯ ก่อนวันจัดอบรม 1 วัน เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับการจัดอบรมความรู้ประกันภัยที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ไปลงพื้นที่และร่วมประชุมกับเกษตรกร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ภายในชุมชน อบต. ไร่มะขาม ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ส่วนในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เป็นการจัดอบรมความรู้ประกันภัยที่โรงแรมลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้จากข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 56.50 ล้านไร่ มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ คิดเป็น 48.09% เมื่อพิจารณาอัตราการทำประกันภัยข้าวนาปีของจังหวัดเพชรบุรี พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 265,336 ไร่ มีพื้นที่ที่ทำประกันภัย 104,183 ไร่ คิดเป็น 39.26% ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยข้าวนาปีของภาคตะวันตกที่มีพื้นที่ทำประกันภัย คิดเป็น 43.72% ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงได้เร่งดำเนินการเชิงรุกสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และประโยชน์ของการนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อบริหารความเสี่ยงภัยในการปลูกข้าวนาปี