(เพิ่มเติม) กฟผ.เตรียมพร้อมรองรับระบบพลังงานทดแทนเพิ่มตามแผน AEDP 2015 มุ่งสร้างเสถียรภาพ-เป็นภาระปชช.น้อยที่สุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 21, 2017 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 58-79 (AEDP 2015) ตั้งเป้าให้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น กฟผ. ซึ่งมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ จึงต้องดูแลให้การเพิ่มเข้าสู่ระบบของพลังงานทดแทนในปริมาณมากเช่นนี้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลังงานทดแทนในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตยังไม่เสถียร ทำให้จำเป็นต้องมีการเตรียมการรองรับที่ดี

นอกจากจะมีการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในปริมาณมากและยังไม่มีความเสถียรแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้าต้องเตรียมกำลังผลิตเพื่อสำรองไฟฟ้าเผื่อไว้ให้ตลอด 24 ชั่วโมง อันจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวม

นอกจากนั้น ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นระบบสะท้อนต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นทั้งระบบและเป็นระบบประกันการลงทุน จึงมีการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) เสมือนการจ่ายค่าเช่าเครื่องตลอดอายุโรงไฟฟ้าประมาณ 25 ปี ซึ่งเป็นการเฉลี่ยมูลค่าการลงทุนไป 25 ปี ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าลงทุนในอนาคตร่วมกันด้วย การมีผู้เดินออกจากระบบไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง จึงเท่ากับทิ้งภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในอนาคตไว้ให้กับคนที่ยังอยู่ในระบบอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเช่นกัน

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวต่างจากหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) เป็นการแข่งขันด้านราคาที่ประชาชนมีสิทธิเลือกซื้อ เมื่อพลังงานทดแทนที่ได้รับการอุดหนุนเข้ามาในระบบ จะทำให้โรงไฟฟ้าในระบบเดิมต้องลดการผลิต มีผลให้ต้นทุนต่อหน่วยผลิตสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะขึ้นราคาเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ทำให้ปัจจุบันค่าไฟฟ้าในระบบ Power Pool สูงมากถึง 5 – 13 บาท และบางประเทศมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ที่ออกจากระบบไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ส่วนการพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้จดแจ้งในระบบแล้วราว 200 เมกะวัตต์ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้พิจารณาร่วมกัน และในท้ายที่สุดกกพ.ก็จะเป็นผู้สรุปอัตราออกมา

ในส่วนของ กฟผ. ที่เป็นกลไกหนึ่งของภาครัฐที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผน AEDP 2015 โดยได้รับการจัดสรรให้เป็นกำลังผลิตของรัฐ ไม่ต้องแข่งขันกับเอกชน เพื่อดูแลความมั่นคงและถ่วงดุลด้านราคาค่าไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนพลังงานทดแทนขององค์กรและจัดทำรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาขอเพิ่มสัดส่วนที่ กฟผ. รับผิดชอบในแผน AEDP 2015 จากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณ 10% ของแผน AEDP 2015 เท่านั้น

อีกทั้งยังเป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ศึกษาแล้วว่ามีศักยภาพสามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญแต่ละโครงการของ กฟผ. ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐบาล จะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าถูกกว่าหรือเท่ากับราคาที่ประกาศรับซื้อจากภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังจะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ใช้โซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภูมิของแผง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกร้อยละ 10 ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (Hybrid) ที่ช่วยให้เกิดความเสถียรมากขึ้น รวมทั้งนำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

แต่เดิมโรงไฟฟ้าฟอสซิลเป็นโรงไฟฟ้าที่ช่วยรองรับความไม่เสถียรของพลังงานทดแทน แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามามากขึ้น จะเกิดปัญหาระบบขาดพลังงานไฟฟ้าอย่างทันทีในช่วงแสงอาทิตย์หมด กล่าวคือ ทำให้กราฟการใช้ไฟฟ้ารายวันเปลี่ยนจากรูปหลังอูฐเป็นรูปหลังเป็ด (Duck Curve) จำนวนโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่มีอยู่อาจมีสมรรถนะไม่พอที่จะรองรับความไม่เสถียรช่วงนี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้ง Battery Storage ช่วยเสริมระบบ

“ที่กล่าวมาเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ กฟผ. เสนอปรับแผน PDP ใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบให้ได้มากขึ้น โดยไม่เกิดปัญหาความไม่เสถียรของระบบ และ กฟผ. พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับการมีพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยในส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ. ได้มุ่งให้เกิดเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ รองรับนโยบายพลังงาน 4.0 และสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกในอนาคต" ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

สำหรับการดำเนินงานเพื่อรองรับ Energy 4.0 นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดแล้วเสร็จระหว่างปี 61-64 เช่น โครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ กฟผ. ที่โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ด และอ่างเก็บน้ำห้วยทราย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงมีโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนดินในพื้นที่ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จ.ราชบุรี สถานีไฟฟ้าแรงสูงมุกดาหาร 2 จ.มุกดาหาร และเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง

นายสหรัฐ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ. ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการต้นแบบ ให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาความร่วมมือด้านการทดลองปลูกพืชพลังงานและจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า โดยให้ท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบของ กฟผ. จะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 63

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่กฟผ.คาดหวังว่าจะได้เป็นผู้ดำเนินการ 2,000 เมกะวัตต์นั้น ซึ่งหากคำนวณเงินลงทุน ณ วันนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.5 แสนล้านบาทตามแผน 20 ปี แต่เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และราคาต้นทุนที่ลดลงจะทำให้มูลค่าลงทุนรวมลดลงได้อีก นอกจากนี้กฟผ.ยังอาจเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการได้ หลังจากที่มีภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจ โดยเฉพาะในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งอาจจะใช้ช่องทางของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เปิดทางให้เอกชนเข้าร่วมในหลายโครงการ โดยจะต้องมีการหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป ซึ่งกฟผ.และเอกชนที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการนั้นจะได้รับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (ROIC) ตามที่กกพ.กำหนด

ตามแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ของกฟผ. จะประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์ ซึ่งเน้นการโครงการโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ , ขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์ ,ลม 230 เมกะวัตต์ , พลังน้ำท้ายเขื่อน 165 เมกะวัตต์ ,ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ ,ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ และพลังความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 5 ปีแรก (ปี 60-64) กฟผ.มีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 180 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 9,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากกฟผ.เข้ามาทำโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นการแย่งโควตาจากภาคเอกชน เนื่องจากตามแผน AEDP 2015 นั้น ไทยจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ และในส่วนนี้มีภาระผูกผันแล้วส่วนหนึ่ง และคงเหลืออีกราว 7,000 เมกะวัตต์ที่ยังไม่มีสัญญาผูกพัน ซึ่งกฟผ.อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในส่วนนี้ได้ ขณะเดียวกันแผน AEDP 2015 อาจจะมีการปรับปรุงใหม่โดยอาจจะเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลต้องการจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นราว 40% จากแผนเดิมที่ราว 20%

โดยการดำเนินการดังกล่าวก็จะผูกพันถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) ที่จะต้องจัดทำใหม่ ซึ่งกฟผ.ในฐานะผู้สนับสนุนข้อมูลการจัดทำแผน PDP ก็จะผลักดันให้กฟผ.มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 36-37% เท่านั้น และตามแผน PDP2015 ก็มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 35% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศเท่านั้น ส่วนรายละเอียดของสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงแต่ละประเภท เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้หารือกันต่อไป

ด้านนายพฤหัส วงศ์ธเนศ รองผู้ว่าการ นโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า ในอนาคตระบบกักเก็บพลังงานจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้พลังงานทดแทนมีเสถียรภาพ โดยมีหลักการสำคัญที่ กฟผ. ใช้พิจารณานำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ คือ สามารถกักเก็บพลังงานได้ปริมาณมากและจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ และมีอายุการใช้งานยาวนาน นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ในระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในอนาคต เพื่อควบคุมความผันผวน ของความถี่และแรงดันในระบบส่งจากการนำพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบ รวมถึงช่วยลดความสูญเสียในระบบส่งไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ