นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางผันผวนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กยท.ได้เชิญผู้ประกอบกิจการยางเอกชนรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA), บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด และล่าสุดยังมีผู้แทนจากบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่อีก 2 บริษัท คือ บมจ. ไทยฮั้วยางพารา และ บมจ. ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) หรือ TRUBB ร่วมหารือแนวทางแก้ไขสถานการณ์ราคายางภายในประเทศ นอกจากนี้ยังได้หารือกับบริษัทต่างประเทศหลายแห่งที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของ กยท. เช่น บริษัท ไห่หนาน (สิงคโปร์) จำกัด บริษัท ชิโนแคม จำกัด ในการหาแนวทางด้านราคาซื้อขายระหว่างประเทศเช่นกัน ซึ่งต้องแก้ไขทั้ง 2 ระดับ ทั้งระดับตลาดที่มีการซื้อขายล่วงหน้า และตลาดการซื้อขายภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ อยู่ระหว่างการหารือแนวทางเพื่อร่วมมือกันในอนาคต แต่คาดว่าตลาดยางพาราในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ปัจจัยพื้นฐานยังเป็นเรื่องที่ดีอยู่ ทั้งความต้องการใช้ยาง และปริมาณยางพาราที่ออกสู่ท้องตลาด ขณะเดียวกันจะเน้นการแก้ปัญหาเรื่องการเก็งกำไรราคายางในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า แต่โดยภาพรวมแล้วยางยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะเติบโตในอนาคต
"สิ่งสำคัญ คือ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าจะต่างจากตลาดส่งมอบจริง ตลาดส่งมอบจริง ถ้ามีการตัดสินใจซื้อวันนี้ ราคามันเกิดขึ้นทันที ส่วนตลาดซื้อขายล่วงหน้า เป็นการซื้อขายบนกระดาษแผ่นเดียว เพราะฉะนั้นตลาดจะไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่เราในฐานะผู้ผลิตจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จึงอยากแนะนำว่าควรมีการแยกตลาดออกมา อย่าเอาสองตลาดมาพันกัน ในที่สุด ถ้าเราเอาตลาดซื้อขายล่วงหน้ามาเป็นตัวกำหนดการซื้อขายจริงเพียงอย่างเดียว ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนั้น ควรมีการบริหารจัดการทั้ง 2 ตลาด ให้มีความชัดเจน" นายธีธัช กล่าว
ส่วนการหารือร่วมกับตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยางทั้งในและต่างประเทศ ได้หารือในประเด็นปัญหาสำคัญใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานทั้งระบบ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะออกประกาศแต่งตั้งพนักงาน กยท.เป็นเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง มาตรา 41 ให้มีประสิทธิภาพ
2.รัฐบาลจะเร่งผลักดันการใช้ยางพาราในหน่วยงานของรัฐ และภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของภาครัฐนั้น ปีงบประมาณ 2560 เหลือเวลาอีก 3 เดือน ในการเร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการให้เกิดการใช้ยางให้ได้มากที่สุด รวมทั้งในปี 2561 จะผลักดันให้มีการตั้งงบประมาณของแต่ละภาคส่วนในการที่จะใช้ยางในภาครัฐมากขึ้น เป็นการส่งเสริมการใช้ยางในรูปแบบหรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการแปรรูปมากขึ้น ในส่วนของภาคเอกชนจะเป็นการร่วมมือและรณรงค์ให้หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้ กยท. เดินหน้าร่วมกับภาคเอกชนผลิตยางล้อ ภายใต้โครงการยางล้อประชารัฐ แบรนด์ TH -TYRE เป็นการใช้ยางที่ผลิตภายในประเทศผ่านสหกรณ์ชาวสวนยาง และมีบริษัทที่ได้มาตรฐานอย่างบริษัท ดีสโตน จำกัด มาเป็นผู้ผลิตยางล้อ ทั้งนี้ กยท.พร้อมเปิดรับทุกบริษัทที่สนใจจะลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ ร่วมกัน โดยขณะนี้ผู้สนใจล้อยางแบรนด์ TH-TYRE สามารถสั่งซื้อกับ กยท.ทั่วประเทศได้
และ 3.ระบบตลาดภายในประเทศ กยท.ผลักดันการซื้อขายจริง ตั้งแต่ตลาดระดับท้องถิ่นของ กยท. เพื่อลดความเสี่ยงหรือการเก็งกำไรจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดและการบริการได้มากขึ้น รวมถึงตลาดกลาง 6 แห่ง ของ กยท. จะรองรับผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา นอกจากนี้ยังมีตลาดกลางระดับภูมิภาค (RRM) ของ 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่ง กยท.ได้เดินหน้าผลักดันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น