นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายในงาน Thailand's Strategic Move ในหัวข้อ Thailand Gateway:Eastern Economic Corridor (EEC) ว่า ในปีนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการคัดเลือกผู้ลงทุน ซึ่งการลงทุนจริงน่าจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เช่น โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งที่ผ่านมาแอร์บัส ได้มีการลงนามร่วมกับ บมจ.การบินไทย (THAI) เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาศูนย์ซ่อม เช่น การพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ประหยัดพลังงาน, โรงซ่อมบำรุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น, โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-ระยอง, โครงการท่าเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เชื่อมโยงโครงการ EEC โดยตรง
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เชื่อมโยงโครงการ EEC โดยตรง เช่น โครงการรถยนต์ ที่ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็มีการแสดงเจตจำนงจากผู้ประกอบการที่จะลงทุน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ก็จะมีการลงทุนจากภาคเอกชนในปีหน้า โดยมีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หรือการดูแลสุขภาพ ขณะนี้ได้รับข้อเสนอเบื้องต้นจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนใน EEC
"เป็นครั้งแรก ที่เราได้สื่อถึงผู้ลงทุน ทั้งนักลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงกองทุน เกี่ยวกับโครงการ EEC เราได้ทำการสื่อสารกับภาคธุรกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ ผู้ผลิต ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดยชี้แจงต่อนักลงทุนให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร โดยปีนี้จะทำเรื่องของ PPP ให้เสร็จ ปีหน้าเริ่มลงทุน เช่น โครงการอู่ตะเภา ก็จะทราบว่าใครเป็นผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลคาดหวังจะให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นผู้จัดหาเงินลงทุนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น นักลงทุนจากยุโรป, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่ขณะนี้ได้แสดงเจตจำนงในการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะมุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด แล้วจำนวน 2 ราย ในวงเงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท