กรมเชื้อเพลิงฯพร้อมกำชับให้เอกชนที่ผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด หากมีความชัดเจนข้อกม.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 22, 2017 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.ให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากเรื่องการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย หลังจากที่รัฐบาลมีแผนจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

โดยกรมฯ จะได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในรายละเอียดของการกำหนดพื้นที่และขั้นตอนการยื่นคำขอใช้พื้นที่ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเหมาะสมต่อไป รวมทั้ง มีแผนจะดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ การประกอบกิจการปิโตรเลียม นับเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้มีการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ที่เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับนอกเหนือไปจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการชดเชยโดยตรงให้กับเกษตรกรผู้ถือครองสิทธิ์ในพื้นที่นั้น ๆ และหากมีการนำผลประโยชน์ที่ได้ส่งเข้ากองทุนเพื่อเกษตรกรตามข้อเสนอของส.ป.ก. กรมฯ ก็ไม่ขัดข้อง

ที่ผ่านมานั้นการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะนำส่งกระทรวงการคลังร้อยละ 40 และจัดสรรกระจายรายได้ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 60 นอกจากนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานยังมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในพื้นที่ที่มีการดำเนินสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกด้วย เช่น การนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งบางส่วนมาใช้แทนก๊าซหุงต้มในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่น

อนึ่ง การประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ผ่านมามติให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. ใน 3 กิจการ ได้แก่ 1.การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 3.การทำเหมืองแร่ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยถือว่าไม่เป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ