นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. กลับเข้าผลิตปิโตรเลียมได้ทันที และให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากมีการประกาศใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกมาแล้ว ขณะที่การหยุดผลิตปิโตรเลียมของผู้ประกอบการตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้สูญรายได้แล้วกว่า 1 พันล้านบาท
"กรมฯประเมินความเสียหายจากมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่ากว่าที่ผู้ประกอบการจะกลับมาผลิตในอัตราเดิมคงใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือน หรือคิดรวมประมาณ 50 วัน แบ่งเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปกว่า 1 พันล้านบาท ,ค่าภาคหลวงที่หายไป 125 ล้านบาท และรายได้ที่ส่งเข้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 60% คิดเป็นส่วนที่หายไป 75 ล้านบาท"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กรมฯ จะได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในรายละเอียดของการกำหนดพื้นที่และขั้นตอนการยื่นคำขอใช้พื้นที่ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเหมาะสมต่อไป รวมทั้ง มีแผนจะดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ การประกอบกิจการปิโตรเลียม นับเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้มีการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ที่เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับนอกเหนือไปจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการชดเชยโดยตรงให้กับเกษตรกรผู้ถือครองสิทธิ์ในพื้นที่นั้น ๆ และหากมีการนำผลประโยชน์ที่ได้ส่งเข้ากองทุนเพื่อเกษตรกรตามข้อเสนอของส.ป.ก. กรมฯ ก็ไม่ขัดข้อง
ที่ผ่านมานั้นการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะนำส่งกระทรวงการคลังร้อยละ 40 และจัดสรรกระจายรายได้ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 60 นอกจากนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานยังมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในพื้นที่ที่มีการดำเนินสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกด้วย เช่น การนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งบางส่วนมาใช้แทนก๊าซหุงต้มในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่น
อนึ่ง การประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ผ่านมามติให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. ใน 3 กิจการ ได้แก่ 1.การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 3.การทำเหมืองแร่ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยถือว่าไม่เป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ ทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย
3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์