(เพิ่มเติม) สทท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว Q2/60 อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนะภาครัฐเร่งกระตุ้นท่องเที่ยวในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 22, 2017 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงไตรมาสที่ 2/60 เท่ากับ 101 ซึ่งอยู่ในระดับปกติจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ทำให้มีแรงกดดันสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาส ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยรวมยังคงประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ในระดับปกติเท่านั้น แม้จะคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยลงไปบ้างก็ตาม ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/60 มีทิศทางดีขึ้น โดยมีการขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนช่วงไตรมาสที่ 3/2560 คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เท่ากับ 102 เป็นการคาดการณ์ในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/60 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในไตรมาสที่ 3/60 หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.75 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในปี 60 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 35.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.79% จากปี 59 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.79% จากปี 59

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แบ่งเป็น กลุ่มอาเซียน 2.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.73% จากไตรมาส 3/59, นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 3.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.20% และนักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.27 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.75% จากไตรมาส 3/59 โดยคาดว่าปี 60 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 35.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.79% มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.79% จากปี 59

"ตัวเลข 35 ล้านคนประเมินจากทิศทางแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาโดยดูจากอัตราการจองห้องพัก อัตราการจองตั๋วเครื่องบิน การสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การบินเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเทศยังเติบโต ยกเว้นกาตาร์แอร์เวย์ แต่เรากลับพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มชาวตะวันออกกลางไม่ได้หยุดการเดินทางโดยยังใช้บริการสายการบินอื่นแทน"

ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 3/60 มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพียง 25% ซึ่งยังคงต่ำกว่าในปี 59 ดังนั้น สทท.เห็นควรให้ภาครัฐพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้มีคุณภาพและมาตรฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานด้านความปลอดภัย การช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (IT) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวโดยแนวทางความช่วยเหลือในด้านสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุดคือ ระบบการจอง รองลงมาคือ การประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการธุรกิจ และการจัดทำเว็บไซต์ของธุรกิจและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยมีการกำหนดมาตรฐานและติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมขาดการดูแลปรับปรุง แหล่งท่องเที่ยมีจำนวนนักท่องเที่ยวแออัดมาเกินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนจังหวัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม ทุกหน่วยงานต้องมานั่งคุยกันว่าถ้าวันหน้าโครงการสาธารณูปโภคเสร็จหมดแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นจะรับมือกันอย่างไร

"ช่วงไตรมาส 3 เป็น Low Season แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร คาดว่าหลัง พ.ย.-ธ.ค.ไปแล้ว ไตรมาสสุดท้ายน่าจะกลับมาคึกคัก อย่างไรก็ตาม Occupency Rate ช่วงไตรมาส 3 นี้เฉลี่ยอยู่ที่ 40-60% แล้วแต่พื้นที่ ขณะที่ช่วง High Season จะอยู่ประมาณ 70-80%"

นายอิทธิฤทธิ์ ยังมองถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวในอนาคตหากโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเสร็จสมบูรณ์ว่า นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยจะโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด GDP ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสจะเติบโตจากปัจจุบันคิดเป็น 17% ของ GDP รวม ซึ่งต้องหันมามองว่ามีแผนรองรับพร้อมหรือยัง จึงมีแนวคิดจะจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโตในอนาคตว่าหากนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีจำนวนสูงถึง 40 ล้านคนจะรองรับอย่างไร หากถึง 80 ล้านคนจะรับมืออย่างไร ซึ่งแผนดังกล่าวควรจะต้องทำร่วมกันทั้งภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ