ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 60 จะขยายตัว 2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และความเสี่ยงทั่วโลกที่เบาบางลง ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค.ขยายตัว 13.2%YOY โดยเติบโตดีในเกือบทุกกลุ่มสินค้า และครอบคลุมในทุกตลาดส่งออกสำคัญ โดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันขยายตัวตามราคาน้ำมันในช่วงดังกล่าวที่ยังคงเติบโตสูง นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 24.2% และ 13.8% ตามลำดับ ตามการส่งออกฮาร์ดดิสไดรฟ์และแผงวงจรไฟฟ้าที่ขยายตัวสูง ในขณะที่การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 8.7%YOY จากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังตลาดตะวันออกกลางยังหดตัวกว่า 17.8% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไปยังคงมีความเสี่ยงจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อ 16 ประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย ในการออกคำสั่งตรวจสอบและหามาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า โดยอาจกระทบสินค้าในกลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งคิดเป็น 23.2% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนั้น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพาราและน้ำตาล ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 20% ของการส่งออกทั้งหมด ไม่สามารถขยายตัวได้สูงในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่คาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี จะขยายตัวที่ 7.2%YOY ตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าทุนซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าอาจเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีแนวโน้มเติบโตตามการส่งออกในสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงอาจเริ่มทรงตัวในช่วงที่เหลือของปีตามแนวโน้มราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.60 มูลค่าการนำเข้าเติบโตชะลอลงที่ 18.2%YOY จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัว 19.8%YOY และการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่เติบโตกว่า 12.4%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 53 เดือนที่ 14.4% ตามการผลิตในภาคส่งออกที่ฟื้นตัว