ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 60 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 2.0% YoY จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องที่น่าจะเป็นแรงหนุนหลักให้การส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในเดือนพ.ค. 60 ผลทางด้านราคายังมีส่วนช่วยหนุนการส่งออกสินค้าไทยให้โตดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอยู่ที่ 19,944 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 13.2% YoY (สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 6.3% YoY) เมื่อหักลบมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป) แล้ว มูลค่าส่งออกสินค้าไทยขยายตัวที่ 10.0% YoY
นอกจากผลทางด้านราคาแล้ว การฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าไทยโดยตรงและโดยอ้อมผ่านห่วงโซ่การผลิตของประเทศคู่ค้า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นำโดยเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป(28) ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสำเร็จรูป (สินค้าอุปโภคบริโภค) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าในกลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประมงสดและแปรรูป ไก่แปรรูป รวมไปถึงการส่งออกสินค้าในหมวด ‘ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง’ ที่ในเดือนพ.ค. ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 90.1 YoY จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปจีนโดยตรงและการส่งออกผ่านเวียดนามไปยังจีน (Re-export) ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก (ปีก่อนเกิดภัยแล้งรุนแรง) ทำให้ในปีนี้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หากส่งออกสินค้าผ่านพรมแดนจากเวียดนามไปยังจีนอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้นยังช่วยหนุนการส่งออกสินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) ผ่านห่วงโซ่การผลิตจีนและญี่ปุ่น ซึ่งในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา สถานการณ์การค้าของทั้ง 2 ประเทศยังคงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าและการส่งออกของญี่ปุ่นที่ขยายตัวสูงถึง 17.8% และ 14.9% (ในรูปสกุลเงินเยน) ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และเหล็ก ส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ตลอดจนเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์จากไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวสูงที่ 8.6% และ 10.6% ตามไปด้วย ใ
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าและการส่งออกของจีนในเดือนพ.ค. เติบโตดีเช่นกันที่ 14.8% และ 8.7% (ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ) ตามลำดับ ทำให้สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อย่างไม้และผลิตภัณฑ์ของไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ส่งออกไปจีนได้มากขึ้นตามไปด้วย
จากข้อมูลการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 จะเห็นว่า ผลบวกทางด้านราคาต่อการส่งออกสินค้าไทยทยอยลดลงและคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปยังครึ่งหลังของปีนี้ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรก