รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชี้แจงข้อสังเกตการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา จากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นลักษณะของการร่วมทุน แต่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการในลักษณะโครงการของไทย กระบวนการทั้งหมด จึงผิดวัตถุประสงค์เดิม เริ่มตั้งแต่เส้นทางที่ไม่เน้นการเชื่อมโยงกับประเทศจีน แต่กลับเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งระยะทั้งหมดมีเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น
เรื่องนี้ สนข. ชี้แจงว่า เนื่องจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 (MOU) ได้แบ่ง การดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ โดยคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้กำหนดให้เริ่มดำเนินการในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน และจะดำเนินโครงการ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อไป เพื่อเชื่อมโยงโครงการรถไฟระหว่างจีน-ลาว ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ประกอบด้วย 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการก่อสร้าง 3.5 กิโลเมตร เป็นเพียงการเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงแรกจาก 4 ช่วง และจะดำเนินการก่อสร้างจนครบ 4 ช่วง รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร ต่อไป
นอกจากนี้ สนข. ได้ชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศจีนควรอยู่ในความเหมาะสม ไม่เอนเอียง ไปทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยต้องเป็นกลางทางการเมืองและต้องรักษาความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การแสดงออกของไทย เช่นการซื้อเรือดำน้ำ รถถัง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนทั้งหมด อาจทำให้เสียสมดุลทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ระบุว่า นอกจากได้ลงนามความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ประเทศไทยยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (ความร่วมมือด้านรถไฟไทย-เกาหลี) และบันทึกความร่วมมือด้านระบบราง ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (ความร่วมมือด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่น) และความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ จึงมิได้เอนเอียงไปทางประเทศใดประเทศหนึ่ง