พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ OTT (Over The Top) เปิดเผยถึงการกำหนดแนวทางและขั้นตอนการแจ้งเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ในรูปแบบ OTT และแนวทางการกำกับดูแล ว่า ทางกทสช. ได้กำหนดลักษณะการเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงโทรทัศน์ OTT ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องเป็นผู้ให้บริการข่าวสารหรือรายการ ที่เป็นเสียง หรือภาพและเสียง ผ่านทางดาวเทียม ,สายเคเบิล ,คลื่นความถี่ รวมถึงอินเทอร์เน็ตแบบเปิดดาวเทียม ที่มีการเผยแพร่ไปสู่ประชาชน ผ่านทางผู้รวบรวม เผยแพร่หรือนำส่ง ได้แก่ กลุ่ม YouTube,Facebook,iflix,NETFLIX เป็นต้น
ทั้งนี้กลุ่มผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT จะต้องเป็นผู้ส่งผ่านข่าวสาร ด้วยการใช้ภาษาไทย ทั้งการทำซับไตเติ้ล ,การพูดภาษาไทย ,เนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศไทย รวมไปถึงการทำสัญลักษณ์ใดๆที่ทำให้คนไทยเข้าใจได้ เช่น การเขียนเป็นภาษาคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการเผยแพร่หรือออกอากาศในประเทศไทยเท่านั้น หากมีการนำเสนอเนื้อหา หรือรูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศถือว่าไม่ได้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายของไทย
ขณะเดียวกันกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ กลุ่มนี้ก็จะถือว่าเป็นผู้ให้บริการ OTT และต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล
"ลักษณะการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย OTT ถือว่าเข้าข่ายตามนิยายตามที่กฎหมายมีผลบังคับใช้อยู่แล้ว เพียงแต่มีการกำหนดลักษณะให้เกิดความชัดเจนยิ่งขี้น หรือปรับให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าสอดคล้องกันก็สามารถทำสิ่งที่มีอยู่ไปบังคับใช้ได้"
นอกจากนี้กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย OTT ที่จะต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น ผู้บริการโครงข่ายรายเดิมที่เป็นกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ อย่าง PHI ,True vision มีความสนใจที่จะขยายการให้บริการโครงข่ายจากเดิมที่ให้บริการทางสายเคเบิ้ล หรือดาวเทียม เป็นการให้บริการบนอินเทอร์เน็ต จะต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโครข่าย OTT ขณะที่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์เดิม ที่ไม่ได้มีความสนใจที่จะทำแพลตฟอร์มบน OTT แต่นำเนื้อหาไปเผยแพร่บน OTT ช่องทางอื่น ก็ต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT
สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการ (Service Provider) รายเดิมที่ต้องการให้บริการบน OTT จะต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการในรูปแบบ OTT คณะกรรมการก็จะรับแจ้งไว้ และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มที่เป็นโครงข่ายรายเดิม และผู้ให้บริการรายเดิม ส่วนผู้ประกอบการกิจการให้บริการ OTT รายใหม่ ที่จะดำเนินการให้บริการในประเทศไทย ก็จะต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวด้วย
"ยกตัวอย่าง กรณีนำเอาเนื้อหาของช่อง 7 โดยมีบริษัท BBTV เป็นเจ้าของ ไปออกอากาศบนช่องทาง YouTube,Facebook, แอพลิเคชัน Bugaboo.TV หรือ www.CH7.com อันดับแรกเราจะต้องดูก่อนว่าใครเป็นผู้ที่บริหารจัดการ นำเสนอหารายการของช่อง 7 ไปออกอากาศ ซึ่งเคสนี้ มี BBTV New media ที่เป็นอีกนิติบุคคลหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารจัดการนำเนื้อหาที่มี BBTV เป็นเจ้าของไปออกอากาศบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ BBTV New media ต้องเป็นผู้แจ้งการให้บริการโครงข่าย OTT"
พ.อ.นที กล่าวว่า ผู้ให้บริการ และโครงข่าย Network จะต้องเป็นผู้ที่ดำเนินการโดยชอบตามกฎหมายด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งทาง YouTube,Facebook ก็จะต้องมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย OTT ประเทศไทยด้วย โดยการดำเนินการแจ้งการเป็นผู้ให้บริการในประเทศไทย จะต้องมาดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนัก หรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย หรือสามารถ ดำเนินการโดยตัวแทน ซึ่งเป็นผู้แทนการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนัก หรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย
พร้อมกันนี้ทางกสทช. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการแจ้งการเป็นผู้ให้บริการ OTT เป็นเวลา 30 วัน (22 มิ.ย.-22ก.ค.) ซึ่งก็ได้มีกลุ่มผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทยอยเข้าแจ้งแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการ OTT แพลตฟอร์มรายใหญ่ 3 ราย คือ เฟซบุ๊ก , ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์ ก็ได้มีการทำหนังสือเพื่อให้เข้ามาแจ้งการเป็นผู้ให้บริการ OTT ซึ่งในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวนี้ กสทช. ก็จะมีการเจรจากับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (US – ASEAN Business Council: USABC) เพื่อทำความเข้าใจต่อกฎหมายดังกล่าวของประเทศไทย
ทั้ง 3 รายถ้าไม่เข้ามาสู่ระบบจะถือว่าไม่อยู่ภายใต้กฎกติกาและกฎหมายไทย การให้บริการคงไม่มีปัญหา แต่การทำธุรกิจ อาจจะทำไม่ได้ กสทช.มองว่า แพลตฟอร์มโครงข่ายกับผู้ให้บริการต้องตรงกัน คือ เมื่อเป็นโอทีทีต้องแจ้งการให้บริการ ถ้าแพลตฟอร์มไม่อยู่ในสารบทกฎหมายไทย การทำธุรกิจมันก็ทำไม่ได้ กสทช.คงต้องหามาตรการทางปกครองที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจมาบังคับใช้ เพราะเมื่อมาประกอบกิจการในประเทศไทยก็ควรปฎิบัติตามกฎหมายไทย และจ่ายภาษีให้ถูกต้อง กรณีของแพล็ตฟอร์มทั้งสามรายต้องมีนิติบุคคลตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อรับผิดชอบทางกฎหมายกับบริการในประเทศไทย “ พ.อ.นที กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวทางการกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบ OTT ให้ปฏิบัติตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เว้นแต่ ประกาศ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบว่าด้วยผังรายการ ค่าธรรมเนียม การหารายได้ การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป การเผยแพร่รายการโทรทัศน์สาคัญ และการจัดลำดับ หมวดหมู่บริการ มิให้นำมาบังคับใช้จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น และผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ที่ไม่ดำเนินการตามแนวทาง หรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ในประเทศไทย