นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะมีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ- นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน และคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ราวต้นเดือน ก.ค. และนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานโยธาตอนแรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ได้ในเดือน ก.ย.นี้
อนึ่ง โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน มี 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่แบ่งงานออกเป็น 4 ตอน ตอนแรก กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร์ ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย(สระบุรี) – นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม.ตอนที่ 4 แก่งคอย-กรุงเทพ ระยะทาง 119 กม. รวมระยะทาง 253 กม.
ส่วนระยะที่ 2 เป็นเส้นทาง นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. จะเริ่มหลังจากดำเนินการระยะที่1 ได้แล้ว โดยขณะนี้ทางจีนได้สำรวจเส้นทางตอนที่ 1-2 แล้ว
นายอาคม กล่าวว่า โครงการถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังคุนหมิงของจีนซึ่งผ่านสปป.ลาว ที่เป็นไปตามนโยบายของจีน One Belt One Road โดยไทยจะได้รับประโยชน์ทางคมนาคมขนส่งทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว
“ในช่วง 2 ปีครึ่ง ได้มีการหารือความร่วมือรถไฟไทย-จีนมา 18 ครั้ง ได้ทำงานอย่างรอบคอบและได้เรียนรู้โครงการรถไฟความเร็วสูง การที่มี ม.44 จะปลดล็อกให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้เพิ่งทำหลังมีคำสั่ง ม.44" นายอาคม กล่าวชี้แจงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในช่วงต้น ก.ค. จะมีการประชุมร่วมโครงการรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่จีนเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ
นายอาคม กล่าวต่อว่า โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ได้ดำเนินในรูปแบบการแบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญาหลัก โดยสัญญาที่ 1 เป็นงานด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา ซึ่งจะประกวดราคาโดยใช้ผู้รับเหมาไทยเป็นหลัก คิดเป็น 75% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่วิศวกรและสถาปนิกไทยจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน
และในส่วนสัญญาที่ 2 เป็นงานด้านการออกแบบ ควบคุมงาน และระบบรถไฟ คิดเป็น 25% ของมูลค่างานโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เป็นเทคโนโลยีและผลิตในประเทศจีน บุคคลการที่ใช้ในสัญญาดังกล่าวจึงเป็นบุคลากรจีน แต่เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื้อหาสัญญาจะระบุให้ฝ่ายจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ฝ่ายไทย โดยจะมีวิศวกรไทยประกบอยู่ด้วย
“โครงการนี้เราจะ check and balanc โดยจีนเป็นผู้ควบคุมงานธา แต่เราก็จะจ้างที่ปรึกษา PMC (Project Management Consultant)"
นอกจากนี้ การบริหารพื้นที่ 2 ข้างทางตลอดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมาเป็นสิทธิของไทย ไม่ได้ยกให้ฝ่ายจีนตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งส่วนนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ก็ได้ ทั้งนี้จังหวัดที่โครงการผ่านได้แก่ อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย ปากช่อง สีคิ้วที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม รวมถึงสิทธิในการพัฒนาสถานีรถไฟก็เป็นของไทย งานก่อสร้างเป็นของผู้รับเหมาไทย และใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุด หรือเกือบ 100% รวมทั้งจะไม่นำแรงงานจากจีนเข้ามา ยกเว้นวิศวกรและสถาปนิกจีน ที่คาดใช้ป ระมาณ 250 คนส่วนการเดินรถโครงการรถไฟความเร็วสูงจะต้องให้คนไทยเป็นผู้เดินรถ
นายอาคม กล่าวว่าโครงการนี้ส่วนใหญ่ 80%ใช้พื้นที่ของ รฟท.ที่เป็นเส้นทางเดิมอยู่แล้ว แต่มีการเวนคืนที่ดินเพียง 10-20% เพราะบางช่วงเป็นทางโค้ง ต้องใช้พื้นที่มากสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง
ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม คาดว่า ภายใน 120 วันจะสามารถลงนามสัญญากับรัฐบาลจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง มี 3 สัญญา คือ สัญญาการออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา สัญญางานที่ปรึกษาการควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดขบวนรถไฟและจัดฝึกบุคคลากร
ขณะนี้แม้ว่าโครงการยังไม่ได้เริ่ม แต่กระทรวงได้ส่งบุคคลกรไทยไปร่วมฝึกอบรม จำนวน 5 รุ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 300 คน โดยเมื่อวันที่ 17-26 มิ.ย.เป็นรุ่นแรกที่ส่งไปที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีลาดกระบัง เป็นต้น จำนวน 25 คนไปฝึกอบรมที่จีนโดยทางจีนได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยการขนส่งปักกิ่งรับผิดชอบการเตรียมการการฝึกอบรม