กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง“ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย…เพื่อประชาชนฐานราก" พบว่า ความเห็นต่อโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่เพิ่งผ่านไปว่าจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ได้เพียงใด ประชาชนร้อยละ 51.6 ระบุว่าช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 48.4 ระบุว่าช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ส่วนสวัสดิการจากภาครัฐที่ผู้ผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยควรได้รับมากที่สุด ประชาชนร้อยละ 24.4 ระบุว่า ควรรักษาพยาบาลฟรีหรือมีส่วนลดค่ารักษาในรพ.เอกชน รองลงมาร้อยละ 23.0 ระบุว่า ควรให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ และร้อยละ 18.3 ระบุว่า ควรจัดหางานสำหรับผู้ว่างงาน
ทั้งนี้เมื่อถามว่ารัฐควรให้สวัสดิการเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนทั้งประเทศอย่างเสมอภาคกันประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 ระบุว่าควรให้สวัสดิการเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่ร้อยละ 35.7 ระบุว่าควรให้สวัสดิการกับคนทั้งประเทศเสมอภาคกันโดยสวัสดิการที่ภาครัฐควรมีให้กับประชาชนทั้งประเทศทั้งคนรวยและคนจนประชาชนร้อยละ 43.4 ระบุว่าสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล (รักษาฟรีคงบัตรทองคุณภาพการรักษาพยาบาลเสมอภาคกัน) ร้อยละ 17.5 ระบุว่าด้านการลดค่าครองชีพได้แก่ลดราคาสินค้าจัดขายของถูกลด/ฟรีค่าน้ำ - ค่าไฟรถเมล์-รถไฟฟรีฯลฯ และร้อยละ 13.8 ระบุว่า ด้านการอบรมวิชาชีพ/สร้างอาชีพ
สำหรับโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจะส่งผลต่อการบริหารประเทศอย่างไรนั้น ประชาชนร้อยละ 39.6 ระบุว่าทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดฐานราก รองลงมาร้อยละ 26.1 ระบุว่าทำให้รัฐบาลได้ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ และร้อยละ 18.1 ระบุว่าทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงขึ้น
กรุงเทพโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,210 คน