พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่าสำหรับกรณีรถไฟไทย – จีนนั้น ขอให้ทำความเข้าใจอีกที พูดกันหลายครั้ง ขออย่าสับสนกับข้อมูลเป็นความร่วมมือ ระหว่างไทย – จีน แบบรัฐบาลต่อรัฐบาลมีการร่วมมือกันมาหลายรัฐบาลแล้ว มีข้อตกลงร่วมกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็เอามาสานต่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อจะเป็นการลงทุนในอนาคต พอดีก็มีการพัฒนาโครงการต่างๆ ของหลายประเทศมหาอำนาจด้วยก็เชื่อมโยงกันได้พอดี เราจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงกับประชาคมโลกอื่นๆ อีกด้วย ฉะนั้นมีหลายประเด็น ที่ต้องพิจารณา 1.คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และระบบควบคุมการเดินรถ – อาณัติสัญญาณ คือพูดถึงทั้งระบบทั้งเส้นต้องทำทั้ง 3 อย่างฉะนั้นฝ่ายไทยก็ได้ตัดสินใจจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกรอบการเจรจา วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท มีการต่อรองมาตลอด มีการเทียบราคาซึ่งกันและกันทั้งต่างประเทศ ทั้งในประเทศได้มีการต่อรองราคาอยู่ประมาณนั้น เราก็จะเป็นการจัดการประมูลในส่วนของการก่อสร้าง ให้บริษัทไทย หรืออาจจะมีการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติไทย ดังนั้นฝ่ายไทยจะรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และในการบริหารจัดการอื่นๆ ในกรอบดังกล่าว โดยต้องเปรียบเทียบมาตลอดในการเจรจาทั้งหมด 18 ครั้ง
2.การร่วมลงทุนของจีนในลักษณะนี้ อาจจะเรียกได้ว่า จีนยังไม่เคยทำกับประเทศใด นอกจากจะใช้ระบบสัมปทานแบ่งปันผลประโยชน์ อันนี้มันเป็นการรับจ้างก่อสร้าง เมื่อเราพิจารณาแล้วมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนมาตรฐานของจีนนั้น ก็ได้รับการยอมรับเนื่องจากได้มีการนำเทคโนโลยีของจีน ไปใช้ก่อสร้างในหลายประเทศแล้ว รวมทั้งหลายประเทศในอาเซียนด้วย หลายหมื่นกิโลเมตร
3.หากฝ่ายไทยเป็นเจ้าของ เราก็จะมีกิจการ เป็นผู้พัฒนา 2 ข้างทางเอง เพื่อจะดูในการสร้างเมืองใหม่, พัฒนาเป็นพื้นที่ประกอบการทางธุรกิจน้อยใหญ่ ที่พักอาศัยของชุมชน หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต วันนี้ได้สั่งการไปยังกระทรวงคมนาคม ,สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปคิดแผนเหล่านี้ออกมาควบคู่ด้วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ผ่านมาให้แนวทางแล้วที่สำคัญ มันก็จะเกิดผลตอบแทนเชิงธุรกิจสูงมาก ดีกว่าที่จะให้เลือกระบบสัมปทาน
4.การแก้กฎหมายนั้น เราจำเป็นต้องไปดูการใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในเชิงพาณิชย์ เพราะกฎหมายทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ในลักษณะพีพีพีหรือแบบอื่น ด้วยตัวเราเอง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมานั้น บริเวณเส้นทางรถไฟ มันทำอะไรไม่ได้เลย ทางด่วน รถไฟฟ้า มันเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด มันก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้ วันนี้ต้องมาดูตรงนี้เราจะได้ไม่เสียประโยชน์ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆไปอีกด้วย จึงขอร่วมมือในเรื่องกฎหมาย
5.เราจำเป็นต้องมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ อันนี้มันจำเป็นเพราะว่ามันต้องมีการเชื่อมต่อเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นไทย – ลาว จีน ปากีสถาน ยุโรปตะวันออก เขามีการเชื่อมโยงกันแล้วในขณะนี้ เราก็จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงไปด้วยคู่ขนานไปกับทางรถยนต์ และเราจะได้ตามทันคนอื่นเขาด้วย ในกรอบ One Belt , One Road (OBOR) วันนี้ ลาว ก็อยู่ระหว่าง การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมไปยังทางเดียวกับเรา เราต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้
6.เราจำเป็นต้องปรับ จัดทำกฎหมายหลายฉบับ โดยต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะ ไทย – จีน รวมทั้งอีก 64 ประเทศในกรอบ One Belt , One Road (OBOR) ควบคู่ไปด้วย
7.การจัดการประมูล ในส่วนที่ฝ่ายไทยลงทุนเอง เราจะต้องดำเนินการเองทั้งหมด การจัดการประมูล การใช้ บริษัทก่อสร้างไทย, แรงงานไทย, วัสดุในท้องถิ่นของไทย ให้มากที่สุด ก็ใช้แต่วิศวกรจากจีนมาเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมแล้วก็ดำเนินการก่อสร้างภายใต้การทำงานของบริษัทก่อสร้างของเราซึ่งต้องมี ประสิทธิภาพ มีมาตรฐานด้วย
8.การพิจารณาความคุ้มทุนทุกคนก็ไม่มองเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการเท่านั้น ทุกประเทศที่ไปเยี่ยมเยียนมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แรกๆ ขาดทุนทั้งหมด แต่วันนี้มหาศาลเพราะมันเกิด ผลประโยชน์สองข้างทางตามมาโดยทันที เพราะฉะนั้นเราจะวางแผนอย่างไร เราจะมองผลประโยชน์ตรงนี้อย่างไร ถ้าเราคัดค้านทั้งหมด ธุรกิจเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลย มันก็เป็นอย่างที่ทุกคนเป็นห่วงเพราะฉะนั้นตนจึงไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ผลประโยชน์เหล่านี้ จะต้องกระจายลงไปยังแต่ละพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่าน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ที่อยู่อาศัย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
9.ในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการก่อสร้าง โดยวิศวกรของไทยอยู่ร่วมในการวางแผนก่อสร้าง, ควบคุมงาน และอื่นด้วย อันนี้มันอยู่ในสัญญาที่จะต้องไปพูดคุย เจรจากันต่อไป ซึ่งมีการพูดคุยมาต่อเนื่อง
10.ในส่วนประสบการณ์ แม้เราไม่เคยทำมาก่อน แต่ตนเชื่อมั่นในความศักยภาพของวิศวกรไทย ว่าสามารถเปิดรับเทคนิคและประสบการณ์ใหม่ๆ จากเส้นทางนี้ ได้มากเพราะเรามีความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องอะไรใหม่ๆ เราอาจจะต้องดูในระยะแรกไปก่อน ติดตามศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานในเส้นทางอื่นๆ ซึ่งอาจจะต้องทำเอง อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปนะครับ ในเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
11.เส้นทางอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เส้นทางเหนือ – ใต้, ตะวันออก – ตะวันตก เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง เราต้อง เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันจากหลายๆ ประเทศ ที่มีศักยภาพ สนใจอยากมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่า ทำเส้นนี้แล้วเส้นอื่นจะต้องเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่เพราะมันมีหลายวิธีการ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นก่อน สักเส้นหนึ่งก่อน แล้วเรามีการพัฒนา มีการประมูล มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มันก็จะสามารถที่จะร่วมทุน (ทีพีพี) ร่วมกัน ในโอกาสต่อไปกับทุกประเทศ อย่าเอาอันนี้ไปพันกับอันอื่นเดี๋ยวมันจะมีปัญหา ในการทำงานต่อไปอีกด้วย
12.เทคนิคในการก่อสร้าง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล อย่าไปห่วงกังวล เพราะเรามีคนรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่เรายอมรับได้อยู่แล้ว ระบบอาณัติสัญญาณนั้น เราก็ต้องผูกพันไว้ให้ได้ว่า ต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้กับโครงการต่อๆ ไปไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตาม ต้องเชื่อมต่อกันให้ได้อย่ากังวลในเรื่องนั้น เพื่อให้การเดินรถมีความปลอดภัย ต่อเนื่อง ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ
13.การกำหนดราคา ก็ได้มีการผ่านการเจรจา ต่อรอง เอารายละเอียดมาดูกัน ราคาค่าก่อสร้าง ราคาวัสดุ อุปกรณ์ มาเทียบกันหมดแล้ว วันนี้ก็ตกลงข้อสรุปกันได้ประมาณ 1 แสน 7 หมื่นล้านบาทลดจากฝ่ายจีนที่เสนอมา จำนวนมากพอสมควร เราได้ศึกษามาอย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นในการดำเนินการทุกเรื่อง เราจะต้องยึดผลประโยชน์ของชาติมาก่อนเสมอ อยู่ในกรอบการเงินการคลังของเรา
14.การทำพันธะสัญญา ความร่วมมือในลักษณะจีทูจีนั้น ฝ่ายไทยดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ กระทรวงคมนาคม การรถไฟไทย ฝ่ายจีน เป็นไปตามหลักการทำธุรกิจของจีน คือ ให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ ได้แก่ สภาเศรษฐกิจ ในการรับรองบริษัทที่จะมาทำการก่อสร้างกับไทย เท่านั้น ไม่ใช่ว่าบริษัทอะไรก็ได้ เพราะเขาต้องรับผิดชอบ รับรองด้วย
15.อยากจะขอร้องให้ทุกภาคส่วน ได้มองในภาพกว้าง ไม่ว่าจะประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ วิศวกร ต่างๆ ช่วยกัน กรุณานึกถึงผลประโยชน์ในอนาคตด้วย ความห่วงใยของทุกคน ตนเคารพในความคิดเห็นของท่านเสมอ เราจะต้องสรรหารูปแบบต่างๆ ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, ตลอดจนให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากการสร้างงาน สร้างรายได้ มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาการศึกษา ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ
16.ตนได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันการทุจริต จะต้องโปร่งใส ทั้งในส่วนราชการ – ข้าราชการ – บริษัทก่อสร้าง – นักธุรกิจไทยก็ต้องทำงานอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ใครทุจริต ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยทันที
17.เรื่องรถไฟความเร็วสูง เป็นเพียงหนึ่งในความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน มันมีตั้งหลายโครงการตั้งหลายอย่างที่ร่วมมือกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กับหลายๆ ประเทศก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การลงทุนร่วมกัน หรือการหาวิธีการแสวงหาความร่วมมือ มันจะช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว และสนับสนุนความร่วมมือรูปแบบต่างๆ ที่จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ในอนาคต
ขอให้ทุกคนช่วยกันในการบูรณาการในทุกระดับ ทั้งรัฐบาล คสช. กระทรวงคมนาคมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนอีกมากมายที่มีส่วนร่วมในการเจรจา จนมีความก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลและ คสช.จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ (ม.44) เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้จากผลการเจรจา ทั้งเกือบ 20 ครั้ง ทั้งหมดมีความคืบหน้ามาตามลำดับแต่ติดอยู่ 3-4 อันตรงนี้ ก็ไปแก้ไขตรงนี้ย้อนกลับไปดูว่าการเจรจาครั้งสุดท้ายที่เรายอมรับได้คืออะไรแล้วทำให้ได้ตามนั้น ถ้าช้าเกินไปเราจะเสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะสูญเสียไป ขอให้ทุกคนพยายามศึกษาทำความเข้าใจเห็นถึงเหตุผลและความจำเป็น รัฐบาลก็ยืนยันทุกอย่างมีสัญญาข้อตกลงคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีการตรวจสอบได้ ใครทุจริต ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐภาคเอกชน หรือภาคประชาชนก็ตาม