ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งเรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานพัฒนารถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีนให้สามารถดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงมีข้อสังเกตจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับความคุ้มค่าของการลงทุนและความโปร่งใส ในการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 : รัฐบาลทำโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงสถานีกลางดง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรไม่มีความชัดเจนทั้งประเด็นความคุ้มค่า จำนวนผู้ใช้บริการและการออกแบบการก่อสร้าง จึงกังวลว่าจะล้มเหลวเหมือนโครงการโฮปเวลล์"สนข. ขอชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางรวม 253 กิโลเมตร ประกอบด้วย 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตรระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการก่อสร้าง 3.5 กิโลเมตรเป็นเพียงการเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงแรกจาก 4 ช่วง และจะดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่องจนครบ 4 ช่วง รวมระยะทาง 253 กิโลเมตรต่อไป ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อให้การลงทุนโครงการเกิดผลประโยชน์สูงสุด
ประเด็นที่ 2 : ข้อสังเกตต่อการใช้ ม.44 ผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อาจเกิดความโปร่งใสต่อการดำเนินโครงการ มีประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 2.1 องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯยังสามารถตรวจสอบโครงการนี้ได้หรือไม่ สนข. ขอชี้แจงว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา (ข้อ 2) ที่กำหนดให้ นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มาใช้ในการตรวจสอบการดำเนินโครงการ และองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบยังสามารถตรวจสอบโครงการนี้ได้
ประเด็นที่ 2.2 ถ้าตรวจสอบจะใช้กฎหมายและระเบียบใดเป็นเครื่องมือหรือบรรทัดฐานในการตรวจสอบ สนข. ขอชี้แจงว่า ในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแม้จะมีการยกเว้นข้อกฎหมายบางประการแต่ได้กำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางของข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มาใช้ในการดำเนินโครงการด้วย
ประเด็นที่ 2.3 แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการทุจริตฯขึ้นอีกในหน่วยงานของจีน เพราะ คสช.สั่งให้ รฟท.จ้างรัฐวิสาหกิจของจีนโดยไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ของไทยใช้บังคับ สนข. ขอชี้แจงว่าฝ่ายไทยได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทั้งในส่วนของการเจรจากับจีนและการดำเนินโครงการในประเทศไทย เช่นกัน ฝ่ายจีนจะต้องดำเนินการตรวจสอบด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินการของฝ่ายจีนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ
ประเด็นที่ 2.4 มีการเตรียมเสนอสิทธิประโยชน์อะไรเพื่อแลกกับแหล่งเงินกู้ในอัตราที่ไม่สูงเกินไปหรือไม่อย่างไร สนข. ขอชี้แจงว่า ไม่มีการเสนอสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด และการจัดหาเงินกู้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของงานโยธาซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการนั้น เนื่องจากจะใช้การประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างในประเทศแหล่งเงินกู้ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ส่วนงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากจีน ได้แก่ การออกแบบ การควบคุมงานก่อสร้าง งานระบบและการฝึกอบรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ฝ่ายไทยจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจากเงื่อนไขจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ และคัดเลือกจากเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ที่จะต้องกู้จากจีน
ประเด็นที่ 2.5 มีการเตรียมตั้งงบประมาณผูกพันเพื่อชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนั้นไว้แล้วหรือยังถ้าเตรียมแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดกี่ปีหลังจากการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้วยังจะยกเว้นการใช้กฎระเบียบต่างๆ ต่อไปหรือไม่ สนข. ขอชี้แจงว่า การจัดเตรียมด้านงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะดำเนินการตามขั้นตอนหลังจากขั้นตอนการอนุมัติโครงการแล้ว