นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการจัดส่งพัสดุ (courier) ของจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดติดต่อกันมาถึง 6 ปี โดยมีอัตราเติบโตประมาณ 50% ต่อปี เป็นผลมาจากความนิยมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในจีน โดยพื้นที่ที่มีการจัดส่งพัสดุมากที่สุดคือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก ตามลำดับ ส่วนเมืองที่มีปริมาณการจัดส่งมากที่สุด ได้แก่ นครกวางโจว มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองเสิ่นเจิ้น กรุงปักกิ่ง นครหางโจว เมืองจินหวา เมืองตงก่วน เมืองซูโจว นครเฉิงตู และนครอู่ฮั่น ตามลำดับ
ปัจจุบันจีนมีการจัดส่งพัสดุด่วน (express delivery) มากที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2557 และปี 2558 และเป็นผู้นำในการจัดส่งพัสดุมากกว่า 31,000 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 51.4% จากปี 2558 รายได้รวม 57,670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43.5% มีการจ้างงานรวมมากกว่า 2 ล้านคน ในปี 2559 โดยธุรกิจบริการฯ ของจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของธุรกิจบริการฯ ทั่วโลก และคิดเป็น 60% ของการขยายตัวในธุรกิจดังกล่าว
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของตลาด มีมูลค่าการซื้อ-ขายในตลาดถึงกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 26% จากปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วน 13% ของมูลค่าการค้าปลีกรวมของประเทศปีที่ผ่านมาเฉพาะในวันคนโสด (11 พ.ย.59) เพียงวันเดียวมีการจัดส่งและส่งมอบสินค้ารวมเป็นพัสดุ 251 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อนหน้า
หน่วยงานไปรษณีย์แห่งชาติ ได้ประกาศแผนงานเพื่อการพัฒนาตลาดการจัดส่งพัสดุด่วนสำหรับปี 2559-2563 โดยเสนอให้สร้างกลุ่มบริษัทจัดส่งพัสดุขนาดใหญ่มากกว่าสองกลุ่มที่มีขีดความสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติกับคู่แข่งจากต่างประเทศ เช่น UPS และ FedEx ได้ ภายในปี 2563 เป้าหมายจัดส่งพัสดุ 70,000 ล้านชิ้นต่อปี รายได้มากกว่า 116,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตต่อปีเป็น 27.6% และ 23.6% ตามลำดับ
จากสถิติของช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 พบว่ามีพัสดุ 7,590 ล้านชิ้น ที่ได้รับการจัดส่งโดยบริษัทจัดส่งพัสดุของจีน เพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้ 98,460 ล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขั้น 27.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
รมว.พาณิชย์ กล่าวย้ำว่า จีนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการพัฒนาด้าน E Commerce เชื่อว่าความนิยมของการค้าออนไลน์ยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจบริการและธุรกิจขนส่งสินค้าในอนาคตจะมีการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในด้านตันทุนที่ถูกลง สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเตรียมความพร้อม และผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์มีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ New Economy Academy (NEA) ที่สามารถให้คำแนะนำ บ่มเพาะ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ E Commerce ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าออนไลน์ให้เติบโตทันกระแสโลกได้