นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (Working Group on Trade and Investment: WGTI) ไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 12 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยฝ่ายไทยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ ในขณะที่ฝ่ายสหภาพฯ มีนาย Peter Berz, Head of Unit of South and South East Asia, Australia, New Zealand ของ DG Trade คณะกรรมาธิการยุโรป เป็นหัวหน้าคณะ ว่า ประเด็นการหารือมีหลายหัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งในระดับการค้าพหุภาคีและการค้าระหว่างสองฝ่าย
"การหารือครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป โดยเป็นการกลับมาหารือครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากการหารือครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในบรรยากาศที่เป็นมิตร และเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการมีเวทีหารือในลักษณะนี้ระหว่างกันต่อไป"
ในด้านการค้าพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ ข้อเสนอการยกเลิกการอุดหนุนสินค้าประมง การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เป็นต้น รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของแต่ละฝ่าย ซึ่งฝ่ายสหภาพฯ ยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินการของไทยและขอให้ไทยเป็นผู้นำในการผลักดันและส่งเสริมการดำเนินการตามความตกลงฯ ในภูมิภาคอาเซียน
ในส่วนของการค้าระดับทวิภาคีนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างหยิบยกประเด็นที่เห็นว่าจะช่วยลดอุปสรรค ด้านการค้าระหว่างกันขึ้นมาหารือ โดยฝ่ายไทยได้หยิบยกเรื่องต่างๆ อาทิ มาตรการด้านสุขอนามัยของสหภาพฯ ต่อสินค้าข้าวไทย ซึ่งฝ่ายสหภาพฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้ไขระดับการตกค้างของสาร propiconazole โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายสหภาพฯ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนและใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐาน และผลการพิจารณาของ WTO ในข้อพิพาทระหว่างสหภาพฯ กับจีนที่จะมีต่อการจัดสรรโควต้าการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกของสหภาพฯ โดยฝ่ายไทยย้ำว่า ผลของการหารือใดๆ ระหว่างสหภาพฯ กับจีนในเรื่องนี้ จะต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ในเรื่องโควต้าสินค้าสัตว์ปีกของไทยลดลงจากเดิม ซึ่งฝ่ายสหภาพฯ ได้รับทราบ และยืนยันว่าในการพิจารณาจัดสรรโควตาสินค้าสัตว์ปีกใดๆ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยในเรื่องนี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสหภาพฯ ขอรับทราบในประเด็นต่างๆ อาทิ ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ข้าวสาลี และเนื้อสัตว์ของไทย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อสำหรับยานพาหนะ มาตรการด้านฉลากและภาษีสรรพสามิตสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านนโยบายและเศรษฐกิจที่สำคัญของแต่ละฝ่าย อาทิ การขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญของไทยเพื่อพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจให้ดีขึ้น รวมทั้งผลกระทบและแนวนโยบายของสหภาพฯ ต่อ Brexit ตลอดจนแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ด้านการค้าเสรี (FTA) ระหว่างภูมิภาคอาเซียนและสหภาพฯ เป็นต้น