ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในไตรมาส 2/2560 โดยคาดว่าสินเชื่อสุทธิ (เงินให้สินเชื่อ หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) น่าจะปิดไตรมาส 2/2560 ที่ระดับใกล้เคียง 2.0% YoY สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 1.26% YoY ณ สิ้นปี 2559 โดยประเมินว่าสินเชื่อสุทธิในเดือนมิถุนายน 60 อาจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่ก็คงต้องฝากความหวังไว้ที่สินเชื่อธุรกิจมากกว่าสินเชื่อรายย่อย
อย่างไรก็ดี สำหรับภาพรวมสินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เดือน พ.ค.60 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.43% MoM และ 1.67% YoY ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน นำโดยสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจระยะสั้นซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่โตเกินคาดในเดือนนี้ ขณะที่ สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนมากนัก เนื่องจากธนาคารยังระมัดระวังการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) จากความเสี่ยงด้านหนี้เสียของเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยกลุ่มดังกล่าวที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ อำนาจซื้อของครัวเรือนที่ชะลอตัว ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เติบโตชะลอลงในช่วง 4-5 เดือนแรกของปีนี้ (4 เดือนแรกปี 2560 โต 4.3% ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 8.7% ในช่วงเดียวกันของปี 2559) อาจเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงทิศทางของสินเชื่อรายย่อยที่ยังไม่น่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก
สำหรับภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เดือนพ.ค.60 กลับมาลดลงเป็นเดือนแรกนับจากต้นปี -0.05% MoM แต่ยอดคงค้างเงินฝากยังคงอยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.52% YoY (และสูงกว่าระดับสิ้นปี 2559 2.34% YTD) ทั้งนี้ ธนาคารหลายแห่งชะลอการระดมเงินฝากลง โดยนอกจากจะเป็นผลมาจากสภาพคล่องที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแล้วก็คงเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย หลังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายย่อยในช่วงกลางเดือน พ.ค.
ส่วนภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เดือนพ.ค.60 ตึงตัวขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝาก ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน พ.ค.60 ขยับขึ้นมาที่ 90.40% จากระดับ 90.11% ในเดือน เม.ย. (ซึ่งต่าสุดในรอบ 12 เดือน) สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับลดลงมาที่ระดับ 21.70% จาก 21.84% ในเดือนก่อนหน้า
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยของธนาคารที่มีผลในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ย้ำภาพความจำเป็นของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องบริหารสภาพคล่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ระดับสภาพคล่องที่ผ่อนคลายลงค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ คาดว่าจะยังเพียงพอรองรับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่ค่อยเป็นค่อยไปของสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 ซึ่งทำให้คาดว่าแนวโน้มการแข่งขันด้านเงินฝากในระบบธนาคารในเดือนมิถุนายน 2560 คงจะยังไม่รุนแรง" เอกสารเผยแพร่ระบุ