นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยภายหลังจากการจับสลากเพื่อคัดเลือกผู้ที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรจากที่สอบผ่านรอบแรก 636 ราย ว่า มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการทั้งสิ้นจำนวน 38 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าที่รวมทุกพื้น รวม 171.52 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายรวมไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ แบ่งประเภทและเป้าหมายการจัดหาตามพื้นที่
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. สามารถนำผลการจับสลากมาประมวลผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พร้อมทั้งการประมวลผลจัดอันดับจำนวนโครงการในแต่ละเป้าหมาย การจัดหาตามพื้นที่ที่สามารถป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (Feeder) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกฯ (อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นโครงการจากหน่วยงานราชการ ได้แก่ องค์การ ที่รัฐจัดตั้งขึ้น (ไม่รวมองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ) จำนวน 11 ราย หรือคิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า รวม 52.52 เมกะวัตต์ และโครงการจากสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์ภาคการเกษตร/สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง) จำนวน 27 ราย หรือคิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า รวม 119.00 เมกะวัตต์
“กกพ.จะพิจารณารายชื่อผู้ที่ผ่านกระบวนการจับสลาก และประกาศผลอย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ โดยปิดประกาศที่สำนักงาน กกพ. และทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนยื่น คำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าต่อไป" นายวีระพล กล่าว
แหล่งข่าวจาก กกพ. กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ผ่านการคัดเลือกไม่เต็มโควตาของส่วนราชการฯจำนวน 100 เมกะวัตต์ เนื่องจากอาจจะมี feeder หรือมีหม้อแปลงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกันที่มีคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ที่ได้ลำดับคิวจับสลากแรก ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์เลือก feeder หรือหม้อแปลงที่สามารถเลือกได้ก่อนได้เลือกไปจนเต็มแล้ว ทำให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ไม่ครบทั้ง 100 เมกะวัตต์
หลังจากนี้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกอาจจะกลับไปพิจารณา feeder ที่ว่างอยู่และหาพื้นที่ในการดำเนินการ เพื่อนำเสนอโครงการกลับมาในส่วนโควตาที่เหลือ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับนโยบายของภาครัฐจะให้สามารถดำเนินการได้หรือไม่ด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณาต่อไป