รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ –หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการเชื่อมต่อ (Connectivity) เส้นทางการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งสอดรับกับนโยบาย One belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้ประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง 18 ครั้ง ซึ่งประเด็นการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ดังกล่าว ได้มีการหารือมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมฝ่ายจีนได้ตกลงที่จะร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยและจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน (SPV) ในส่วนการเดินรถและการซ่อมบำรุง ต่อมาภายหลัง ฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายจีนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านงานโยธาเพิ่มขึ้น
แต่ในท้ายที่สุดในการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้ข้อยุติในหลักการว่าไทยจะเป็นผู้ลงทุนในโครงการเองทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะต่อขยายจากนครราชสีมา จนถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน
จากผลการหารือทวิภาคีดังกล่าวซึ่งได้ข้อยุติว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยรัฐบาลจีนจะยังคงให้ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อไป โดยจีนจะเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามแผนติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้แก่บุคคลากรฝ่ายไทยด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฯ ในอนาคต ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จะดำเนินการโดยฝ่ายไทยเท่านั้น