(เพิ่มเติม) ครม.ให้ BEM สร้างทางเชื่อมด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกเข้าทางด่วนขั้น 2 วงเงิน 275 ลบ.โดยไม่ขึ้นค่าผ่านทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 27, 2017 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) โดยให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง ด้วยวงเงิน 275 ล้านบาท ทั้งนี้ การก่อสร้างทางเชื่อมทางด่วนดังกล่าว จะไม่เป็นเหตุทำให้ต้องมีการปรับขึ้นค่าทางด่วนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รายงานว่า เมื่อการก่อสร้างทางเชื่อมดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้ปริมาณการจราจรของทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2,600 PCU/วัน คิดเป็น 1.77% ทำให้รายได้ของทางด่วนสายนี้เพิ่มขึ้นจากการจราจรที่เพิ่มขึ้น และทำให้ กทพ. และ BEM ได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่กำหนดในสัญญา

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม คือ สัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษา โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) และร่างสัญญาเพิ่มเติมสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับที่ 2 ) ซึ่งตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เสนอก่อสร้างทางเชื่อมเพิ่มเติมจากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ไปยังทางด่วนศรีรัช ด้านทิศเหนือ (ไปแจ้งวัฒนะ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้ทาง และเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรด้วย

โดย BEM จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้าง ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะทาง 360 เมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 275 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน แบ่งเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างที่เชื่อมต่อระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 155 ล้านบาท ซึ่ง BEM จะรับผิดชอบ อีก 120 ล้านบาท จะเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างทางเชื่อมระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนกับทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ซึ่งโครงสร้างบางส่วนทับซ้อนอยู่ในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จำเป็นต้องก่อสร้างไปพร้อมกัน ซึ่ง BEM จะออกค่าก่อสร้างไปก่อน และไปเคลมจากผู้ลงทุนทางเชื่อมดังกล่าวภายหลัง

โดยจากการประเมิน พบว่าทางเชื่อมจะทำให้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น 2,600 คัน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 5 หมื่นคัน/วัน ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะคำนวณเพิ่มเป็นส่วนแบ่งค่าผ่านทางในสัญญาต่อไป

ทั้งนี้ กทพ.ได้ดำเนินการตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) โดยร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และคณะกรรมการกำกับดูแลทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ รวมถึงผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว โดยได้เพิ่มมูลค่างานก่อสร้างทางเชื่อมตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนี้ในวรรคสองของร่างสัญญา

สำหรับโครงสร้างเชื่อมต่อระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ (Missing Link) นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม, เศรษฐกิจ, สังคม, การเงิน, ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ