ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อย้อนรอยการเกิด Brexit ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของอังกฤษยังได้รับผลกระทบไม่รุนแรง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสแรกของปี 60 เติบโตต่อเนื่องที่ 2.0% (YoY) รวมทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 56.7 บ่งชี้ว่าธุรกิจในประเทศยังขยายตัวได้
นอกจากนี้ ในด้านตลาดเงินก็คลายความกังวลได้มากขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ที่แม้ยังอยู่ในระดับอ่อนค่าแต่ก็ทรงตัวอยู่ที่ 1.2726 ดอลลาร์ฯ ต่อปอนด์ (แข็งค่า 3.16% เมื่อเทียบกับต้นปี 2560) โดยรวมแล้วอ่อนค่าจากวันที่เกิด Brexit 14.46% ตลอดจนธนาคารกลางอังกฤษได้ส่งสัญญาณเตรียมลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษในระยะต่อไปที่อาจชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาทางการเมืองและการลงทุนในประเทศที่อ่อนแอลง เป็นต้น
สำหรับภาคการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลมายังไทยได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยตลาดอังกฤษซึมซับผลกระทบมาระยะเวลาหนึ่งทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 การส่งออกของไทยไปอังกฤษเติบโต 16.0% (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 1,737 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากแรงผลักดันของการส่งออกสินค้ากลุ่มอากาศยานที่เติบโตก้าวกระโดดในเดือนมกราคม ประกอบกับการเติบโตดังกล่าวเป็นภาพที่ต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปีที่แล้วส่งผลให้ฐานของไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกจากไทยไปอังกฤษมีแนวโน้มลดลงในครึ่งหลังของปี 60 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปอังกฤษทั้งปี 60 น่าจะเติบโตที่ราว 6.2% (YoY) (กรอบประมาณการเติบโต 5.0-7.1%) มีมูลค่าการส่งออกราว 4,090 ล้านดอลลาร์ฯ (ระหว่าง 4,050-4,130 ล้านดอลลาร์ฯ)
โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ของไทย ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์ อากาศยานและส่วนประกอบ จักรยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาการเจรจาระหว่างสองฝ่ายถ้าหากอังกฤษต้องไปเริ่มเจรจา FTA กับ EU ในระยะข้างหน้าสินค้าไทยโดยเฉพาะยานยนต์และอากาศยานที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของทั้งอังกฤษและ EU อาจต้องเตรียมแผนรับมือกับการโยกย้ายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศ EU
"Brexit ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไป EU ในปี 60 เท่าใดนัก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีสามารถเติบโตได้ 7.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออก 9,647 ล้านดอลลาร์ฯ และการส่งออกของไทยไป EU ได้ผ่านช่วงเวลาเปราะบางมาแล้ว ซึ่งในปี 60 น่าจะเป็นปีที่การส่งออกของไทยไป EU เติบโตดีขึ้นที่ 3.2% โดยมีมูลค่าส่งออก 22,770 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการเติบโต 2.3-4.3% โดยมีมูลค่า 22,570-22,986 ล้านดอลลาร์ฯ) แต่ยังต้องติดตามการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสถานการณ์ทางการเมืองในอิตาลีที่ยังมีภาพไม่ชัดเจน อันอาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ได้"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการเจรจา Brexit ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. 60 ซึ่งก็ยังไม่มีผลการเจรจาที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ตามข้อผูกมัดของมาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอนที่อังกฤษได้ประกาศไปแล้ว มีผลให้อังกฤษกำลังนับถอยหลังสู่การเกิด Hard Brexit T ในวันที่ 29 มี.ค.62 แล้วหลังจากนั้นทาง EU จึงจะเริ่มคุยกับอังกฤษว่าจะจัดทำความตกลงในรูปแบบใด รวมทั้ง EU จะมีระยะเวลาการผ่อนผันให้อังกฤษปรับตัวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาและยอมรับเงื่อนไขระหว่างกัน
หากว่าในท้ายที่สุดอังกฤษต้องเดินหน้าเจรจา FTA กับ EU เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนวันที่ 29 มี.ค.62 ธุรกิจในอังกฤษจะต้องรับมือกับกำแพงภาษีศุลกากรของ EU ที่กลับมาสู่ระดับปกติ (MFN Rate) กระทบการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบระหว่างห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจอังกฤษที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของ EU โดยอัตราภาษีศุลกากรของรถยนต์นั่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9.7% ชิ้นส่วนยานยนต์ 3.8% ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 3.0% เครื่องดื่ม 4% และอากาศยาน 2.5% เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การเจรจาที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจใน EU ที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเชื่อมโยงกันอยู่มากยิ่งขึ้น จึงยังต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด