นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59 – พ.ค.60) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,496,129 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 4,395 ล้านบาท หรือ 0.3% มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 27,964 ล้านบาท หรือ 31.5% การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 24,078 ล้านบาท หรือ 24.6% และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 3,384 ล้านบาท หรือ 0.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลยังคงสูงกว่าประมาณการและเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 กระทรวงการคลังจะติดตามดูแลให้การจัดเก็บรายได้เป็นตามเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป
สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – พฤษภาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,496,129 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,395 ล้านบาท หรือ 0.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว3.9%) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ที่สูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีรายได้พิเศษ เช่น การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) การรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การชำระภาษีการพนันของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งหากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ จะขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,084,502 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 46,240 ล้านบาท หรือ 4.1% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 19,950 ล้านบาท หรือ 1.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 25,716 ล้านบาท หรือ 5.0% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.9% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 10.0%
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 35,707 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,993 ล้านบาท หรือ 41.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.7%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยของปี 2559 ต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ ทำให้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 374,390 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,384 ล้านบาท หรือ 0.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว7.1%)โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 14,506 ล้านบาท หรือ 11.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 27.0%) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,224 ล้านบาท หรือ 5.6% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.5%)
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 69,108 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,692 ล้านบาท หรือ 13.4% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.2%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 11,514 ล้านบาท หรือ 14.7% เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัว10.9% และ 9.3% ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 122,017 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24,078 ล้านบาท หรือ 24.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25.8%) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่ง จากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 116,746 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27,964 ล้านบาท หรือ 31.5% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48.2%) สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 7,408 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,118 ล้านบาท หรือ 40.0% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44.5%) โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการ 1,755 ล้านบาท หรือ 37.4% สาเหตุมาจากการปรับปรุงค่าเช่าสนามบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการเปิดประมูลให้ใช้ที่ในท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้รายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่า ประมาณการ 365 ล้านบาท หรือ 61.8%
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 200,234 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,482 ล้านบาท หรือ 1.7% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 140,722 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 22,178 ล้านบาท หรือ 13.6% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 59,512 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,696 ล้านบาท หรือ 45.8%
1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 6,670 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 150 ล้านบาท หรือ 2.2%
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 10,018 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,423 ล้านบาท หรือ 12.4%
1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 10,391 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 707 ล้านบาท หรือ 6.4%
1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 5 งวด เป็นเงิน 43,321 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 139 ล้านบาท หรือ 0.3%
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเฉพาะในเดือนพ.ค.60 พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 268,940 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,149 ล้านบาท หรือ 1.5% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 12.9%) เป็นผลจากภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,388 ล้านบาท หรือ 37.6% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12.8%) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ ต่ำกว่าประมาณการ 4,111 ล้านบาท หรือ 6.2% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.5%) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,413 ล้านบาท หรือ 5.1% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.0%) อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 15,730 ล้านบาท หรือ 157.6% การจัดเก็บภาษีน้ำมัน สูงกว่าประมาณการ 3,807 ล้านบาท หรือ 24.6% และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 2,465 ล้านบาท หรือ 49.0%