ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.เดือนก.ค.ยังคงดอกเบี้ยที่ 1.50% หนี้ครัวเรือนยังสูง-ผลจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2017 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 5 ก.ค.60 หลังผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อเศรษฐกิจไทยมีจำกัด ขณะที่พัฒนาการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังคงสนับสนุนระดับการดำเนินนโยบายในปัจจุบันซึ่งยังเหมาะสมต่อสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งยังช่วยจำกัดความเสี่ยงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่การลงทุนก็เริ่มทยอยปรับตัวในทิศทางดีขึ้น อันจะเห็นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่การส่งออก และการท่องเที่ยวยังคงหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้

"ภาพของพัฒนาการฟื้นตัวที่ปรับดีขึ้นดังกล่าว คงเป็นปัจจัยให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อประคองภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นการจำกัดความเสี่ยงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งช่วยบรรเทาไม่ให้พฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยงของนักลงทุนปรับเพิ่มขึ้น" บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเห็นว่า ผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยมีไม่มาก แม้ว่าเฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบที่ 2 ของปี รวมทั้งประกาศแผนการที่จะลดขนาดงบดุลในระยะข้างหน้า แต่ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยมีอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดได้รับรู้ไปแล้ว โดยหลังจากที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14 มิ.ย.60 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น

"ด้วยมุมมองที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อตลาดการเงินไทยที่มีไม่มาก คงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่กดดันให้ทางการไทยต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเฟดในระยะอันใกล้" บทวิเคราะห์ ระบุ

นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงยังคงสนับสนุนให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หากพิจารณาเงินเฟ้อจะพบว่าแรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับลดลงจากปัจจัยด้านธรรมชาติที่ส่งเสริมให้ผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัวได้ดี รวมทั้งราคาหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก หากมองไปข้างหน้าความกังวลด้านอุปทานส่วนเกิน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีไม่มาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ ได้แก่ พัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มากขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สูญเสียสมาธิในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันส่งผลให้แรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจมีไม่มาก ขณะที่ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่มีความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งในซีเรียและตะวันออกกลาง รวมทั้งอาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและการลงทุนของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ การที่ตลาดการเงินมองถึงความไม่แน่นอนต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีมากขึ้น อาจส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยให้ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ