(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ค.60 ขยายตัว 1.4% YoY

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 30, 2017 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 115.02 ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 15.06% (MoM) ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัว 0.15%

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์ยาง, เนื้อไก่แช่แข็ง, น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันพืช

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิต MPI ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 17.6% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว15.6% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 21.5%

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.17% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ โดยเป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IOT ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีคำสั่งซื้อสินค้าจำพวก Other ICs, Transistors, Monolithic ICs และ PCBA มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.05% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากในปีก่อนวัตถุดิบน้ำยางสำหรับผลิตมีจำนวนน้อยกว่าในปีนี้ อีกทั้งผู้ผลิตบางรายมีการเพิ่มทุนและขยายการผลิต ทำให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก

เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.49% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นที่ขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออกได้เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศผู้ผลิตไก่รายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งผู้ผลิตเนื้อไก่ในบราซิลประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพของเนื้อไก่ ทำให้หลายประเทศนำเข้าเนื้อไก่จากไทยที่มีมาตรฐานในการผลิตมากกว่า

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.13% เนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นมีการหยุดเพื่อซ่อมบำรุงทั้งโรงกลั่นมากกว่าในปีนี้ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ไร้สารตะกั่ว และน้ำมันเตาชนิดที่ 5

อย่างไรก็ตามยังมีบางอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปรับตัวลดลง 17.15% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลง ลูกค้าจึงชะลอคำสั่งซื้อและบริหารสต็อกที่มีอยู่ในมือแทน รวมถึงปีนี้ฝนตกชุกและตกเร็วกว่าปีก่อน ทำให้การก่อสร้างทำได้ล่าช้ากว่าปกติ

เครื่องประดับ ปรับตัวลดลง 36.53% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากลูกค้าระมัดระวังในการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น รวมถึงภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้สั่งซื้อชะลอการนำเข้าไปด้วย

น้ำดื่ม ปรับตัวลดลง 14.50% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากในปีนี้ฤดูฝนมาเร็วและตกชุกทำให้สภาพอากาศไม่ร้อนจัด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าในตลาดลดลง และผู้ผลิตชะลอการผลิตหลังแคมเปญกระตุ้นตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่สิ้นสุดลง

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า สศอ.จะมีการประเมินเป้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนหน้า และจะมีการประเมินด้วยว่า MPI ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ ควรจะอยู่ที่ระดับใดถึงจะได้ตามเป้าที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งปี จะยังเป็นไปตามเป้าที่ 0.5-1.5% และ GDP อุตสาหกรรม ขยายตัว 1-2%

สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นในช่วงครึ่งปีหลังที่จะส่งผลให้ MPI ขยายตัว คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะยังไม่ขยายตัวมากนัก เป็นผลจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลต่อคำสั่งซื้อ แตหากภาคการเกษตรมีการฟื้นตัวได้ดี อาจเป็นปัจจัยช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยก่อการร้าย

สำหรับการแก้ไข พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวนั้น นายวีรศักดิ์ เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่จะไม่ประมาท ซึ่งจะมีการติดตามโดยเฉพาะภาคแรงงานในอุตสาหกรรม SMEs เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์การพิจารณาดัชนี MPI ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ