ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยสหรัฐฯคงอันดับ Tier 2 Watch List ต่อเนื่องกระทบส่งออกประมงไทยจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 30, 2017 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาคงสถานะไทยในระดับ Tier 2 Watch List ต่อเนื่องจากปี 2559 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ 2560 (TIP Report 2017) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 หลังจากพิจารณาแล้วพบว่า ไทยยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาด้านแรงงาน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทยในปี 2560 ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมงอันดับ 1 ของไทย จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการผลิตสินค้าส่งออกหลักทั้งกุ้งและทูน่ากระป๋อง และผลทางภาพลักษณ์จากสถานการณ์ด้านแรงงานที่ไม่ได้ด้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา จากการที่สหรัฐฯ คงสถานะของไทยในระดับ Tier 2 Watch List ต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกัน เนื่องจากการจัดสถานะใน TIP Report ของสหรัฐฯ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรการแทรกแซงทางการค้าไว้

ดังนั้น ผลจากการจัดสถานะดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยจำกัด นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนทางด้านฤดูกาลจากการที่ผลผลิตกุ้งจะเริ่มออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นต้นไป ทำให้คาดว่าในปี 2560 การส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทยไปยังสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 3.0 – 5.0% ด้วยมูลค่าประมาณ 1,417 – 1,445 ล้านดอลลาร์ และหนุนให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทยในภาพรวมสำหรับปี 2560 มีการขยายตัวที่ 2.5 – 4.0% ด้วยมูลค่าประมาณ 5,790 - 5,875 ล้านดอลลาร์ฯ

ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายจากการที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และบิดเบือนข้อมูลบนฉลากอาหารทะเล (Seafood Fraud) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าทางทะเล จากในและนอกน่านน้ำสหรัฐฯ ต้องจัดเก็บข้อมูลการทำประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Traceability Program) ซึ่งจะบังคับใช้เดือนมกราคม 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าส่งออกหลักอย่างกุ้ง แม้ว่าจะได้รับการยกเว้นในระยะแรก ด้วยเหตุผลของการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในสหรัฐฯ เอง แต่เมื่อกฎระเบียบภายในของสหรัฐฯ เอื้อต่อการดำเนินการและผู้เลี้ยงกุ้งปรับตัวได้ มาตรการดังกล่าวจะถูกนำมาปรับใช้กับสัตว์น้ำทุกชนิดอย่างเท่าเทียม ในขณะที่ปลาทูน่า อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ยังพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหรัฐฯ ได้เพิ่มข้อกำหนดสำหรับอาหารทะเลนำเข้า เช่น กุ้ง ที่จะวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต้องมีใบรับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานภายในประเทศ หรือทูน่ากระป๋อง ที่ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตาม Traceability Program หากจะวางขายในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ (Whole Foods Market) เป็นต้น

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเตรียมตัวล่วงหน้าด้วยการเริ่มจัดเก็บข้อมูลและสร้างมาตรฐานการทำประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Traceability Program) นอกจากเป็นการเตรียมความพร้อมกับกฎการนำเข้าเพิ่มเติมของสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา IUU Fishing (การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องติดตามการประกาศผลประเมินสถานะการทำประมงของไทย โดยเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปมีแผนจะเข้าติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา IUU Fishing ของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปยังคงสถานะใบเหลืองแก่ไทยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังต้องให้ความสำคัญกับอุปทานวัตถุดิบของสินค้าหลัก เช่น กุ้งที่ผลิตจากฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคตายด่วนในกุ้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงอย่างมากตั้งแต่ปลายปี 2555 เป็นต้นมา จนทำให้ไทยต้องเสียอันดับการส่งออกกุ้งมากที่สุดในโลกให้แก่คู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย รวมไปถึงการที่เอกวาดอร์และอินโดนีเซียสามารถพัฒนาการเลี้ยงกุ้งจนมีปริมาณผลผลิตมากกว่าไทยในปัจจุบัน ส่วนทูน่ากระป๋องที่มักประสบปัญหาความไม่สม่ำเสมอของอุปทาน ผู้ประกอบการไทยควรแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่เพิ่มเติม เช่น การสร้างพันธมิตรกับเรือประมงของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งจับปลาทูน่า เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น หรือการเข้าไปลงทุนในประเทศที่เป็นแหล่งจับปลาทูน่า เป็นต้น เพื่อให้มีวัตถุดิบเข้าสู่สายการผลิตอย่างเพียงพอ

อีกหนึ่งความท้าทาย คือ นโยบายทางการค้าของ Trump ที่ต้องการแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้า โดยการออกมาตรการตอบโต้กับประเทศที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่น การขึ้นภาษี การจำกัดปริมาณนำเข้า การกำหนดโควตาภาษี เป็นต้น โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2560 สินค้าประมงของไทยอาจได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากคำสั่งซื้อส่วนใหญ่น่าจะดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น หากสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการตอบโต้กับประเทศคู่ค้าหลัก คาดว่าผลของมาตรการน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคและการยอมรับในมาตรฐานสินค้าของผู้บริโภคสหรัฐฯ จะยังคงเป็นแรงหนุนที่สำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย นอกจากนี้ ในระยะยาว หากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ ทวีความสำคัญและมีการกำหนดมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ อาจทำให้ผู้ประกอบการส่งออกประมงของไทยมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนสัดส่วนการผลิตและการส่งออก โดยหันไปพึ่งพาบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบแทน ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปบางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ