ธปท. มองแนวโน้มศก.ไทย H2/60 โตดีกว่า H1/60 จากลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว, ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 30, 2017 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 60 มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นจากการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปี ซึ่งเป็นการลงทุนตามการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ

"เรามองว่าการลงทุนภาคเอกชนครึ่งปีหลังจะกลับมา เพราะการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเริ่มเห็นเม็ดเงินที่ชัดเจนในครึ่งปีหลัง เมื่อโครงการของรัฐเริ่มเดินหน้า การลงทุนในภาคก่อสร้างจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตาม" นายดอน กล่าว

ส่วนที่มีความกังวลว่ามีโอกาสจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในประเทศไทยอีกนั้น นายดอน ระบุว่าขณะนี้ในภาพรวมยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในเศรษฐกิจของไทย แต่ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีบทเรียนจากในอดีตที่ผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้จะยอมรับว่าในภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้น่ากังวลมากนัก เพราะเชื่อว่าเมื่อถึงระยะหนึ่งที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะค่อยๆ ลดลง

"ก่อนจะเกิดวิกฤติปี 40 เราจะเห็นราคาอสังหาริมทรัพย์วิ่งขึ้นค่อนข้างแรง แต่ปัจจุบันราคาอสังหาฯ ไม่ได้ขึ้นไปมากนัก เว้นบางทำเล อาจจะมีบ้างที่เป็นฟองสบู่เล็กๆ แต่ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะการระดมทุนของภาคอสังหาฯในระยะหลังเป็นการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ มากกว่าจะระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต่างจากในปี 40 ที่ภาคอสังหาฯ ระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน พออสังหาฯ ขายไม่ออก เลยกระทบธนาคารพาณิชย์ และกระทบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ" นายดอนกล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น นายดอน มองว่ามีโอกาสจะแผ่วลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากสินค้าบางประเภทที่ส่งออกได้ดีในครึ่งปีแรก เช่น ยางพารานั้น ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากจีนยังมีปริมาณสต็อกยางพาราอยู่ในระดับสูง จึงอาจนำเข้าน้อยลง พร้อมมองว่า การส่งออกของไทยที่จะเติบโตได้ในระดับเลข 2 หลักนั้น อาจมีโอกาสได้เห็นในบางเดือนมากกว่าที่จะเป็นการเติบโตของการส่งออกทั้งปีในระดับ 2 หลัก

อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์หน้าจะมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้แก่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อประเมินว่าภาพรวมการส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไร ตลอดจนภาพรวมข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การเบิกจ่ายภาครัฐ เพื่อให้ กนง.ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมต่อไป

นายดอน ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทว่า การที่เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจากเดือนพ.ค.มาถึงเดือนมิ.ย. เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศ จึงมีส่วนกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่ถือว่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่าประเทศในภูมิภาคมากนัก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าไป 5.4%

"ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังอยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศ จึงส่งผลมากดดันเงินบาทให้แข็งค่าต่อในเดือนมิ.ย. แต่ก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 5.4% ถือว่ายังอยู่ในระดับกลางๆ" นายดอนกล่าว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปรับฟังการรายงานภาวะเศรษฐกิจจากธปท. ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้สอบถามธปท.ว่า เศรษฐกิจไทยจะเกิดปัญหาฟองสบู่หรือไม่ โดยทาง ธปท. ยืนยันว่ายังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาฟองสบู่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. ชี้แจงว่า มีการรายงานด้วยความเข้าใจที่คาดคลาดเคลื่อนว่า การสร้างที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากและยังขายไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ ซึ่งสินค้าดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการขายเท่านั้น ไม่ได้เป็นการสร้างความต้องการเกินความต้องการของตลาดแต่อย่างใด

“ธปท. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับค่าเงินบาทของไทยตอนนี้ว่า ไม่ได้แข็งค่าเกินไป และไม่กระทบกับขีดความสามารถการแข่งขัน เพราะค่าเงินบาทปรับแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่ง และภูมิภาค อีกทั้งการแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้เป็นเพราะค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า รองนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการ ธปท. เรื่องใดเป็นพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท. ดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ของ ธปท. แต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ