ที่ประชุม JCC ไทย-เมียนมาเห็นพ้องเร่งพัฒนาถนนเชื่อมพื้นที่โครงการทวาย,พัฒนาโครงการทวายเฟสแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 30, 2017 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (Myanmar-Thailand Joint Coordinating Committee for the Comprehensive Development in the Dawei SEZ and Its Related Project Areas: JCC) ครั้งที่ 8 โดยมีนายตัน มิ้นท์ รมว.พาณิชย์ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานร่วม และนายทุน หน่าย รมว.ไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาและประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ (DSEZMC) ว่า เป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกหลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อปี 59 ไทยและเมียนมาแสดงเจตจำนงค์ที่จะร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่รองรับการลงทุนของภาคเอกชนได้โดยเร็ว

นายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะเร่งพัฒนาถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายสู่ชายแดนไทย/เมียนมา ระยะทาง 138 กม. และพัฒนาโครงการทวายระยะแรก (DSEZ Initial Phase) ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Joint Technical Task Force) 2 ชุดเพื่อหารือในรายละเอียดจัดทำแผนงาน กรอบเวลา และแนวทางการดำเนินงานแต่ละเรื่อง เสนอ JCC ภายใน 3 เดือน โดยการประชุม JCC ครั้งที่ 9 จะจัดประชุมในเดือนต.ค.นี้ เมียนมาเป็นเจ้าภาพจัดที่เนปิดอว์

คณะทำงาน 2 ชุดได้แก่ (1) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวาย-ชายแดนไทย/เมียนมา ซึ่งมีผู้แทนจากกรมทางหลวง และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อบ้าน (องค์การมหาชน) (NEDA) หรือ สพพ. เป็นหน่วยงานหลักจากประเทศไทย และผู้แทนจากกรมทางหลวงและผู้แทนจากกระทรวงวางแผนและการเงิน หรือ Myanmar Investment and Commercial Bank (MICB) เป็นหน่วยงานหลักจากเมียนมา

(2) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาโครงการทวายระยะแรก ที่มีผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานหลักจากประเทศไทย และผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักจากเมียนมา

นายอาคม กล่าวว่า ทางฝ่ายเมียนมา เห็นด้วยที่งานก่อสร้างถนนเชื่อมต่อโครงการทวายไปชายแดนไทย/เมียนมา ที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 138 กม.เป็นโครงการลงทุนของภาครัฐเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน จากเดิมที่เป็นงานที่รวมกับสัมปทานโครงการทวายที่บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ได้รับสัมปทาน ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอเงินกู้ วงเงิน 4,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 30 ปี โดยปลอดดอกเบี้ย 10 ปีแรก ให้แก่รัฐบาลเมียนมา เพื่อใช้ลงทุนถนนเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้ วงเงินกู้ดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติแล้ว โดยระยะแรกจะก่อสร้าง 2 ช่องจราจร

"ให้เวลา 3 เดือนทางเมียนมาในการพิจารณาเรื่องการลงทุนสร้างถนนถ้าดึงงานถนนออกมา ITD ก็จะได้หาแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ ITD เป็นผู้พัฒนาโครงการทวายระยะแรก หลังตัดงานถนนแล้ว จะมีนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 27 ตร.กม. , โรงไฟฟ้า, ท่าเรือขนาดเล็ก , ระบบโทรคมนาคม , สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) , อ่างเก็บน้ำ

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาจะพิจารณาเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่ ITD ที่เคยทำสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 58

ขณะเดียวกันทางไทยจะนัดประชุมหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการในการพิจารณาการพัฒนาโครงการทวาย Full Phase ต่อไปหลังจากที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นเข้าร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV)

สำหรับโครงการทวายจะเป็นตัวเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาที่สำคัญและจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเมียนมา ไทย และภูมิภาคโดยรวม ซึ่งภายหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เมียนมาได้ตั้งกลไกการทำงานร่วมกับฝ่ายไทย ได้แก่ 1) คณะกรรมการร่วมระดับสูง (JHC) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรเป็นประธานร่วม 2) คณะกรรมการประสานงานร่วมระดับรัฐมนตรี (JCC) มีนายอาคม เป็นประธานร่วม และ 3)คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZMC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ