นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การระงับการนำเข้าข้าวสาลีไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการระงับการนำเข้าข้าวสาลีจะผิดข้อผูกพันที่ไทยทำไว้กับ องค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามที่ได้ผูกพัน เว้นแต่เหตุผลด้านความปลอดภัยของชีวิต มนุษย์ พืช และสัตว์ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และปริมาณผลผลิตในประเทศ 4.57 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ (ประมาณ 8 ล้านตัน) จำเป็นต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นมาทดแทน เช่น ข้าวสาลี DDGS
ปัจจุบัน (30 มิ.ย.) เกษตรกรไม่น่าจะมีปัญหาอยู่เนื่องจากราคาที่โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ (ที่ความชื้น 14.5%) อยู่ที่ 8.15-8.65 บาท/กก. โดยผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559/60 ออกสู่ตลาดหมดแล้ว ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลิต 2560/61 ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดประมาณปลายเดือนกรกฎาคม
ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหลักอาทิ ไก่เนื้อ (57%) ไก่ไข่ (22%) สุกร (16%) และอื่น ๆ (5%) โดยในปี 2559 มีไก่เนื้อแปรรูปสำหรับส่งออกถึง 6.9 แสนตัน มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท หากไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จะซื้อข้าวโพดลดลงอย่างมาก เป็นผลกระทบกลับมาถึงเกษตรกร
กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการการนำเข้า ข้าวสาลี เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดอัตราส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 60 มีผลให้ในปี 2560 (ม.ค-พ.ค. 60) มีการนำเข้าข้าวสาลี เพียง 0.58 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการนำเข้า 1.51 ล้านตัน ลดลงถึง 0.93 ล้านตัน
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำในฤดูการผลิตที่ผ่านมา (1) ผลผลิตกระจุกตัวโดยจะออกมากในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ประมาณ 2.95 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 73 ของผลผลิตทั้งประเทศ (2) เกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 3.67 ล้านไร่ หรือ 52% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมทั้งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้นำเข้าปศุสัตว์ของไทยอาจใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้าได้ (เหมือนกรณี IUU) ผู้ส่งออกจึงไม่รับซื้อ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแผนการแก้ไขปัญหา ผลผลิตกระจุกตัวและการเพาะปลูกในพื้นที่ป่าโดย (1) ลด/เลิกการเพาะปลูกในพื้นที่บุกรุกป่า (2) ปรับสัดส่วนการผลิต ต้นฝน : ปลายฝน : แล้ง จาก 72 : 23 : 5 เป็น 30 : 20 : 50 โดยขยายพื้นที่ปลูกในฤดูแล้งทดแทนนาปรังส่วนหนึ่ง