นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจไทยขณะนี้มาไกลจากภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปี 40 หรือที่เรียกว่า"วิกฤติต้มยำกุ้ง"ค่อนข้างมากแล้ว และเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนเช่นเดิมแน่นอน เนื่องจากสภาพปัจจุบันฐานะด้านต่างประเทศของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งในแง่ของทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ สถาบันการเงินไทยมีฐานะเข้มแข็ง เห็นได้จากเงินกองทุน, ระบบบริหารความเสี่ยง และวิธีการดำเนินธุรกิจที่มีความระมัดระวังในการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากในปี 40 เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี แม้โอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงเช่นในปี 2540 จะไม่มีในระยะอันสั้นก็ตาม แต่คงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่สามารถชะล่าใจได้ เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีความเสี่ยงใหม่ที่ต้องจับตามอง ซึ่งไทยเองจะต้องสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเหล่านั้นเข้ามาก่อปัญหาในเชิงระบบต่อเศรษฐกิจไทยได้อีก
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า หากจะพิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตของภาคการเงินไทย ยังคงมีประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก หน่วยงานที่กำกับดูแล และสถาบันการเงิน จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจการบริหารความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง และไม่ส่งเสริมให้ผู้บริหารรับความเสี่ยงจนเกินควร อันจะนำมาสู่ปัญหาในเชิงระบบของสถาบันการเงินได้
ประการที่สอง สถาบันการเงินจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการแข่งขันในภาคการเงินรูปแบบใหม่ มีผู้เล่นประเภทใหม่เข้ามา ดังนั้นสถาบันการเงินจะต้องปรับตัวให้ทัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้กับคนไทยและธุรกิจไทยด้วย
ประการที่สาม ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันบริหารจัดการ และปิดไม่ให้เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะนำมาสู่ปัญหาในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำเป็นต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้
ประการที่สี่ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มูลค่าหนี้สูงขึ้น และเป็นหนี้ที่มีระยะยาวขึ้น ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจจะเป็นจุดเปราะบางต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวทั้งระดับมหภาค และระดับครัวเรือนที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประการที่ห้า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเริ่มเห็นความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้น ระหว่างคนรวยกับคนยากจน, ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งหากสังคมใดที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงก็จะเป็นความเปราะบางต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะจะไม่สามารถรับแรงปะทะจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้ และยังทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้นด้วย
ประการสุดท้าย ความเสี่ยงด้านต่างประเทศ เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่มีความผันผวนมากขึ้นและคาดเดาได้ยากขึ้น ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ทั้งนโยบายการเงิน, นโยบายการคลัง, นโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่ต้องอาศัยความเชื่อมโยงจากตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดสินค้าจากต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือสร้างกันชนที่ดีเพื่อให้สามารถรองรับแรงปะทะที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยไว้ให้ได้
"จำเป็นที่เราต้องมีกันชนในระดับสูง ตั้งแต่กันชนระดับเศรษฐกิจมหภาค ในเรื่องของทุนสำรองระหว่างประเทศ เงินกองทุนของสถาบันการเงิน การบริหารจัดการสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหมาะสม เหล่านี้เป็นกันชนให้เราสามารถรองรับแรงปะทะต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้จากโลกที่จะผันผวนมากขึ้น โลกต่างประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีภาคการเงินพัฒนาไปรวดเร็ว ความเชื่อมโยงกันของการทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศจะเกิดขึ้น เร็วขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา" นายวิรไท กล่าว
พร้อมกันนั้น นายวิรไท ระบุว่า การจะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติในระยะยาว จึงมี 3 สิ่งที่สำคัญ คือ 1.ผลิตภาพ 2.การสร้างภูมิคุ้มกันหรือสร้างกันชนรองรับแรงปะทะต่างๆ และ 3.ต้องแน่ใจว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยได้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น
"ทั้ง 3 คำนี้เป็น 3 คำสำคัญ และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล สถาบันการเงิน ธุรกิจ ประชาชน ที่จะต้องช่วยกันเร่งเพิ่มผลิตภาคให้เศรษฐกิจสังคมไทย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นกันชนให้เศรษฐกิจสังคมไทย และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับระบบเศรษฐกิจไทย"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว