(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.60 หดตัว -0.05% Core CPI ขยายตัว 0.45%,ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็น 0.7-1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (CPI) เดือนมิ.ย.60 อยู่ที่ 100.66 หดตัว -0.05% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ตลาดคาดหดตัว -0.32%) แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนพ.ค.60 ขณะที่ CPI ช่วง 6 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.67%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (Core CPI) เดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 100.77 ขยายตัว 0.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.08% จากเดือนพ.ค.60 ขณะที่ Core CPI ช่วง 6 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.56%

ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 102.05 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.70% แต่เพิ่มขึ้น 0.62% จากเดือน พ.ค.60 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.89 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.32% แต่ลดลง 0.32% จากเดือนพ.ค..60

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 60 ลดลงอยู่ระหว่าง 0.7-1.7% จากเดิมคาด 1.5-2.2% เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 60

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.60 ลดลง 0.05% จากแนวโน้มราคาผักสดที่เริ่มสูงขึ้น เนื่องจากผักสดเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะตลาดโลก จากผลของความไม่แน่นอนในปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบีย รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มตะวันออกกลาง ทำให้ยังคงมีอุปทานส่วนเกินในตลาด ทั้งนี้ รายการสินค้า 422 รายการ ที่นำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาในเดือนมิ.ย.60 พบว่า มีสินค้า 151 รายการราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ผักสด, ค่าเช่าบ้าน, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, รถยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้า 108 รายการมีราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า, นมสด, น้ำตาลทราย, ผงซักฟอก, น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำอัดลม เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 163 รายการราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 0.67% ซึ่งแสดงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปี 59 ที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก ลดลง 0.09% ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากรายได้เกษตรกร และการผลิตภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชนเป็นสำคัญ น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 60 ลงเหลือ 0.7-1.7% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ระดับ 1.5-2.2% เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสมมติฐานที่สำคัญทั้ง 2 ตัว มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ คือ 1.ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้ปรับคาดการณ์ลงมาเหลือ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิม 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 59 เหตุเพราะตลาดกังวลต่อการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประเทศนอกกลุ่มโอเปกและปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ลิเบีย และไนจีเรีย 2.อัตราแลกเปลี่ยน โดยได้ปรับคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 34-36 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), การปรับลดขนาดการถือครองทรัพย์สิน รวมทั้งนโยบายผ่อนคลายกฎเกณฑ์การดำเนินธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะที่สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของปีนี้ ยังคงไว้เท่าเดิมที่ระดับ 3-4% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร และรายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งการสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่เป็นผลดีต่อเนื่องจากอุปสงค์ เช่น การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และภาคเอกชน "เศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ปัจจัยที่ยัง swing และต้องติดตามคือ เรื่องราคาน้ำมันที่อาจจะมีผลกระทบได้ เพราะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำมันราคาลดลง แต่พอ 4-5 วันก่อน น้ำมันขึ้นราคาจากกรณีของสต็อกและ supply ในตะวันออกกลาง จึงทำให้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามผลกระทบจากราคาน้ำมันต่อไป ในขณะที่ค่าเงินไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อดัชนีราคาผู้บริโภค แต่อาจจะไปกระทบกับดัชนีราคาผู้ผลิต" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว พร้อมคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แรงกดดันจากผลของฤดูกาลคลายตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหากเงินเฟ้อครึ่งปีหลังอยู่ในระดับประมาณ 1% ก็ถือว่าน่าพอใจในแง่ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และระดับเงินเฟ้อไม่ได้สูงจนเกินไป โดยค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 1.2% ก็ถือว่าสอดคล้องกับหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ