สศก.เผย 5 เดือนแรกไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรเพิ่ม 24% ยาง-ข้าว-มันสำปะหลัง-ไก่-กุ้งนำ, รุกตลาดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24 และ 4001) ของไทยในปี 2560 ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ว่า มีมูลค่าการค้า 718,950 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2%) โดยไทยส่งออก 552,291 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.8%) ไทยนำเข้า 166,659 ล้านบาท (ลดลง 15%) จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 385,632 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 24%)

สำหรับมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2560 และตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา (จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา) ข้าว (จีน เบนิน อเมริกา แอฟริกาใต้) มันสำปะหลัง (จีน) เนื้อไก่ (ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป) กุ้ง (อเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม) ผลไม้ (อาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน)

อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 เดือนแรกพบว่า ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยยังคงเป็น อาเซียน (26%) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ และยาง, จีน (16%) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ยาง มันสำปะหลัง และข้าว, ญี่ปุ่น (13%) ซึ่งส่งออกอาหารปรุงแต่ง และยาง, สหรัฐอเมริกา (11%) ส่งออกอาหารปรุงแต่ง และยาง และสหภาพยุโรป (9%) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ อาหารปรุงแต่ง ยาง และเครื่องปรุงอาหาร เป็นต้น

นอกจากนั้น การดำเนินการเจรจาให้คู่ค้ายอมรับมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงมีตลาดส่งออกใหม่เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดเดิม เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งได้กลับมาเริ่มส่งออกเนื้อไก่สด/แช่เย็น แช่แข็ง ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ประมาณ 91 ล้านบาทและการเจรจาเปิดตลาดด้านมาตรฐานของสินค้าปลาและสัตว์น้ำในตลาดรัสเซีย และเม็กซิโก มูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ประมาณ 179 ล้านบาท และ 19 ล้านบาท ในทั้งสองตลาดใหม่ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ไทยสามารถไต่อับดับการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้นมาได้โดยตลอด โดยจากลำดับที่ 9 ในปี 2555 ขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกลำดับที่ 7 ในปี 2558 รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน แคนาดา และอินโดนีเซีย และในอนาคตถือว่ามีโอกาสขยับขึ้นไปเป็นลำดับที่ 6 ได้แน่นอน หากสามารถรักษามาตรฐานการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ