ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง โดยผลของฐานสูงจากภัยแล้งจะทยอยลดลงในเดือนก.ค.เป็นต้นไป ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017 ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.0%YOY
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.56%YOY ซึ่ง SCB EIC มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปี 60 อยู่ที่ราว 0.6%YOY โดยผู้ประกอบการอาจยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้มากนัก เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ยังถูกกดดันจากภาวะการจ้างงานที่ซบเซาและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนลดลงไปอยู่ที่ -0.05%YOY จาก -0.04%YOY ในเดือนก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.45%YOY จาก 0.46%YOY
สาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลงในเดือนมิถุนายนเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ราคาอาหารสดที่หดตัวลง โดยเฉพาะราคาผักสดที่ลดลง 10%YOY ราคาผลไม้ที่ลดลง 5%YOY ซึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนตามภาวะภัยแล้งและสภาวะอากาศในปีนี้ที่เอื้ออำนวยให้มีผลผลิตมากขึ้น 2. ราคาน้ำมันดิบเบรนท์กลับมาหดตัวที่ -3%YOY จากที่ขยายตัว 8% ในเดือนก่อน ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัว โดยราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและบริการส่วนใหญ่แทบไม่ขยายตัว เช่น เครื่องนุ่งห่ม (0.0%YOY) ค่าเช่าที่พักอาศัย (0.4%YOY) ค่าโดยสารสาธารณะ (0.2%YOY) สะท้อนว่าการจับจ่ายใช้สอยในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานในบางอุตสาหกรรมที่ชะลอลง