นายปรีดี ดาวฉาย ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.มองว่าการชะลอการใช้พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปเป็น 180 วันจากเดิมที่คาดไว้ 120 วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฏหมาย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีเวลาในการปรับตัวได้ และพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนได้ทันก่อนพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวมีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานไนประเทศไทยรวมกว่า 1 ล้านคน
นายปรีดี กล่าวว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดระเบียบการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบ โดยผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้พาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนจะได้ทำตามกฏระเบียบได้อย่างถูกต้อง และสามารถช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยให้ลดลงได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สหรัฐฯจัดอันดับการค้ามนุษย์ประเทศไทยในระดับสูงกว่า Tier 2 ในปัจจุบันได้เร็วมากขึ้น
"ผู้ประกอบการเมื่อรู้ระยะเวลาที่ชัดเจนแล้วมีอะไรก็ต้องรีบทำ ซึ่งการที่ คสช.ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 180 วัน จากเดิม 120 วัน เป็นเรื่องที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนได้ทัน มองว่าพ.ร.ก.ต่างด้าวนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้การจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นไปตามระเบียบ และลดปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้ลดลง และทำให้เราขยับขึ้นจาก Tier 2 ได้เร็วขึ้น"นายปรีดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในด้านกลุ่มอาชีพที่ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ดังกล่าว เช่น กลุ่มอาชีพด้านเกษตรกรรม กลุ่มเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานต่างด้าว กลุ่มอาชีพแม่บ้าน และกลุ่มอาชีพงานขายของหน้าร้านที่ต้องมีการเก็บเงิน โดยขณะนี้ภาครัฐได้เปิดให้เอกชนเข้าเสนอแนวคิดในการหาทางออกที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา