กรมโรงงานฯ เผยช่วงครึ่งปีแรกมียอดตั้งโรงงานกว่า 2 พันแห่ง เงินลงทุนกว่า 2 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 5, 2017 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยสถิติยอดตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2560 มีจำนวน 2,469 แห่ง เงินลงทุนรวม 218,551 ล้านบาท โดย 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของชาติได้รับการตอบรับที่ดีมีการขอจดประกอบกิจการ 575 โรงงาน ยอดลงทุนกว่า 52,919 ล้านบาท รวมไปถึงในการขยายตัวของโรงงานในพื้นที่โครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขยายตัวถึง 284 แห่ง ยอดลงทุนกว่า 23,806 ล้านบาท

"ตัวเลขการขยายตัวของ 6 เดือนของปีที่ผ่านมา มีความใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หากมองในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกแล้วถือว่ามีตัวเลขการขยายตัวที่น่าพอใจ" นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

พร้อมระบุว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 151,223 คน แบ่งเป็น การประกอบกิจการใหม่ 2,024 แห่ง เงินลงทุน 126,416 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 106,971 คน และขยายกิจการโรงงาน 445 แห่ง เงินลงทุน 92,134 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 44,252 คน ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขอตั้งโรงงานและขยายกิจการจำนวน 2,442 แห่ง เงินลงทุน 228,654 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 97,238 คน

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขอประกอบกิจการใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารถึง 271 แห่ง เงินลงทุน 17,380 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารขอตั้งโรงงานใหม่เป็นจำนวนมาก รองลงมา เป็นผลิตภัณฑ์โลหะ 186 แห่ง เงินลงทุน 6,449 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 167 แห่ง เงินลงทุน 6,554 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์อโลหะ 156 แห่ง เงินลงทุน 4,103 ล้านบาท และกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 148 แห่ง เงินลงทุน 11,793 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขอขยายกิจการส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเช่นเดียวกันมีถึง 94 แห่ง เงินลงทุน 11,497 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 43 แห่ง เงินลงทุน 4,474 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 35 แห่ง เงินลงทุน 4,310 ล้านบาท กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ฯ 31 แห่ง เงินลงทุน 4,574 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 26 แห่ง เงินลงทุน 1,780 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 26 แห่ง เงินลงทุน 1,715 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับการตอบรับที่ดีมีการขอจดประกอบกิจการทั้งสิ้น 575 แห่ง เงินลงทุน 52,919 ล้านบาท และในกลุ่ม EEC ที่มาขอจดประกอบกิจการทั้งสิ้น 284 แห่ง เงินลงทุน 23,806 ล้านบาท

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า หากมองภาพรวมของการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายถือว่าเป็นผู้ประกอบการให้การตอบรับค่อนข้างดี มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 52,919 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่การเติบโตในการขอจดประกอบและขยายสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรูปอาหารจำนวน 368 แห่ง เงินลงทุน 20,786 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 74 แห่ง เงินลงทุน 22,427 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์จำนวน 40 แห่ง เงินลงทุน 5,048 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกลจำนวน 32 แห่ง เงินลงทุน 1,659 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนชีวภาพจำนวน 29 แห่ง เงินลงทุน 1,149 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับภูมิภาคที่มีการขอจดประกอบและขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลางจำนวน 1,111 แห่ง เงินลงทุน 112,699 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 64,929 คน รองลงมาภาคตะวันออกจำนวน 384 แห่ง เงินลงทุน 38,862 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 12,660 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 367 แห่ง เงินลงทุน 28,551 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 10,190 คน ส่วนจังหวัดที่มีการขอประกอบกิจการมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร จำนวน 211 แห่ง เงินลงทุน 6,392 ล้านบาท รองลงมา สมุทรปราการ จำนวน 156 แห่ง เงินลงทุน 14,437 ล้านบาท และชลบุรี จำนวน 131 แห่ง เงินลงทุน 9,589 ล้านบาท

รวมไปถึงในการขยายตัวของโรงงานในพื้นที่ EEC มีการจดประกอบกิจการ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จำนวน 157 แห่ง เงินลงทุน 16,732 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 4,695 คน จังหวัดระยอง จำนวน 79 แห่ง เงินลงทุน 5,002 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,329 คน และ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 52 แห่ง เงินลงทุน 3,831ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,309 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ