นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา"ทิศทางอุตสาหกรรมยางพาราไทยในยุค Thailand 4.0" ว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยว่า ระดับเทคโนโลยีอยู่ที่ระดับ 2.0-2.5 โดย SMEs กว่า 70% อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 และ 25% ที่อยู่ในระดับ 3.0 ซึ่งหากรัฐบาลอยากให้เป็น 4.0 ต้องมีการปรับตัวกันอีกมาก หากยางพาราไทยจะปรับตัวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น, เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น (Smart Farming), เปลี่ยนแรงงานที่มีทักษะ มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้น, เตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ, ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวสู่นโยบาย Thailand 4.0 จะมี 4 Sector ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.ภาคการเกษตร จากการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการเกษตรสมัยใหม่เน้นบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี (Smart Farming) 2.ภาคธุรกิจและการผลิต จากธุรกิจและการผลิตโดยเฉพาะ SMEs (Traditional SMEs) ที่รัฐต้องช่วยตลอดเวลา เป็น Smart Enterprise และ Start up ซึ่งจะพึ่งพาตนเอง มีศักยภาพสูง 3.ภาคบริการ จากการบริการ Traditional Service ที่มีกำไรต่ำ เป็น High Value Service เน้นที่คุณค่า บริการที่มีคุณภาพทำให้ลูกค้าพร้อมจ่ายในราคาที่สูง 4.ทรัพยากรมนุษย์ จากแรงงานทักษะต่ำ เป็นแรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง สร้าง Productivity ของประเทศให้สูงขึ้น
ขณะที่กลุ่มการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามามีบทบาทของเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ข้าว การเพาะปลูกข้าวจากเดิมใช้กลุ่มคน 10-20 คนในการปักกล้า ดำนา ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลาหลายชั่วโมง ต่อมาก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยรถทำได้ทั้งขุด ไถ กลบในตัว ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็ไม่ต้องใช้แรงงานคนอีกต่อไป มีรถนวดข้าวแทนแรงงานคน, อ้อย จากเดิมใช้แรงงานคนขุดดิน ปลูกต้นอ้อย ตัดอ้อย ต่อมาก็มีเครื่องจักร มีรถตัดอ้อย ตัดเสร็จก็นำส่งขึ้นรถบรรทุกส่งเข้าโรงงานได้เลยในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ในส่วนของยางพารา ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้การปลูกต้นยาง กรีดยางสะดวกและง่าย ขณะที่การกรีดยางมองว่าเริ่มเป็นยุคมืดเพราะตอนนี้คนไทยที่ทำอาชีพกรีดยางเริ่มหายากจากปัญหาราคายางตกต่ำ ทำให้ต้องใช้แรงงานต่างชาติเข้ามากรีดยาง หากมีสถาบันใดสามารถคิดค้นเทคโนโลยีในการกรีดยาง หรือทำอย่างไรก็ได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรีดยางได้มาก เพื่อลดต้นทุน ส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ ภาคอุตสาหกรรมกำลังพัฒนาเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
นายเอกชัย กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าในปี 2563 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากในปี 2559 ไทยส่งออกยางต้นน้ำมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ยางล้อ ถุงมือยาง 3 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกไม้ยางแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ มูลค่า 2 แสนล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 6.7 แสนล้านบาท
สำหรับการใช้มาตรา 44 เพื่อผ่อนผันการบังคับใช้พ.ร.ก.การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว นายเอกชัย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะผ่อนผันออกไปอีก 6 เดือน แต่ผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs หรืออุตสาหกรรมในต่างจังหวัดจะเป็นกลุ่มแรกๆที่จะล้มหายตายจากเพราะมีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ก็ต้องเปลี่ยนจากแรงงานที่ใช้แรงเพียงอย่างเดียวเป็นแรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูงขึ้น สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆได้ดีขึ้น
ดังนั้น ในระหว่าง 6 เดือนที่มีการผ่อนผันนี้ ภาคอุตสาหกรรมก็จะปรับตัวโดยจะเน้นการใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าให้มากขึ้น
"ผู้ประกอบการไทยเรามีการเตรียมตัวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 และรองรับพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ไม่เฉพาะเรื่องการลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ แต่เรายังให้ความสำคัญกับทักษะแรงงานฝีมือ แต่ก็ยังห่วงอุตสาหกรรมในต่างจังหวัด อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก"